เลือดจาง โลหิตจาง กับ ยาอีพีโอ (EPO)

24 มิ.ย. 2558 เวลา 09:17 | อ่าน 4,184
แชร์ไปยัง
L
 
EPO เป็นชื่อย่อของยาอีริโทรโพอิติน (erythropoietin) ซึ่งเป็นยาประเภทฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้น ยานี้มีที่ใช้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ใช้แก้ไขภาวะโลหิตจาง โดยเมื่อการทำงานของไตลดลงจนระดับของเสียในเลือดที่เรียกว่าครีเอตินีน (creatinine) สูงกว่า 2-3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะเริ่มพบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีภาวะโลหิตจาง ยิ่งเมื่อการทำงานของไตลดลงไปอีก จะพบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีภาวะโลหิตจางได้บ่อยขึ้นและมักมีอาการรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะเมื่อการทำงานของไตลดลงจนเหลือความสามารถที่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของภาวะปกติ

การวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง ทำได้โดยการตรวจวัดระดับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin; Hgb) ในเลือด โดยหากระดับฮีโมโกลบินต่ำกว่า 13 กรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือต่ำกว่า 12 กรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ถือว่ามีภาวะโลหิตจาง

ยาฉีดอีพีโอ

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง คือการขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน ซึ่งในภาวะปกติร้อยละ 90 ของฮอร์โมนนี้สร้างจากเนื้อไต และไปออกฤทธิ์กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นเมื่อเกิดโรคไตวายเรื้อรังจึงมีการสร้างฮอร์โมนนี้ลดลง มีผลให้การสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูกลดลงและเกิดภาวะโลหิตจางตามมา

สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ร่วมกันของภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ได้แก่ การขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินบี 12 การขาดกรดโฟลิค การเสียเลือดจากระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังยังแตกง่าย ทำให้อายุของเม็ดเลือดแดงสั้นลงอีกด้วย ผลเสียของโลหิตจางคืออะไร

ภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทำให้เกิดอาการในหลายระบบ ได้แก่ อาการในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดปัญหาด้านความทรงจำและสมาธิ ซึ่งการแก้ไขภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการตอบสนองต่อระบบภูมิต้านทานที่ดีขึ้นด้วย

การรักษาโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทำได้อย่างไร
การรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ต้องทำการหาสาเหตุที่แก้ไขได้ก่อน เช่น สาเหตุจากการเสียเลือดในทางเดินอาหาร สาเหตุจากการขาดธาตุเหล็ก และวิตามินอื่นๆ ซึ่งหากแก้ไขสาเหตุต่างๆ แล้วแต่ผู้ป่วยยังมีภาวะโลหิตจางอยู่ หรือไม่พบความผิดปกติจากสาเหตุดังกล่าว แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (หรือที่นิยมเรียกว่า EPO, อีพีโอ) ซึ่งใช้เพื่อทดแทนการขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ยาอีพีโอ (EPO) คืออะไร
ยาอีพีโอ (EPO) คือยาฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (erythropoietin) มีโครงสร้างเป็นไกลโคโปรตีน ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการตัดต่อดีเอ็นเอ (recombinant DNA) โดยมีการเรียงต่อของลำดับกรดอะมิโนเหมือนกับฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินที่ถูกสร้างในร่างกาย โดยผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ epoetin-alfa, epoetin-beta, darbepoetin alfa และ methoxy polyethylene glycol epoetin-beta

เมื่อให้ยา EPO ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใดเข้าสู่ร่างกายแล้วยา EPO จะจับกับตัวรับของอีริโทรโพอิตินที่ผิวของเซลล์ตั้งต้นเม็ดเลือดแดง และกระตุ้นการส่งสัญญาณในเซลล์ ซึ่งมีผลกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวและการเจริญของเซลล์เม็ดเลือดแดง และรักษาภาวะโลหิตจางได้

นอกจากยา EPO จะมีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแล้ว ยังสามารถใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจางในโรคอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยา zidovudine, ผู้ป่วย myelodysplatic syndrome (MDS) เป็นต้น

ยา EPO แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร
Epoetin-alfa, epoetin-beta, darbepoetin alfa และ methoxy polyethylene glycol epoetin-beta เป็นยา EPO ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีความแตกต่างของยาแต่ละชนิดอยู่ที่ จำนวนสายของคาร์โบไฮเดรต ปริมาณ sialic acid ในโครงสร้าง หรือการเพิ่มสารที่ทำให้โมเลกุลยามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการจับกับตัวรับของอีริโทรโพอิตินต่างกัน ค่าครึ่งชีวิตของยาต่างกัน จึงทำให้ยาฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินแต่ละชนิดมีความถี่ของการบริหารยาที่แตกต่างกัน

ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาลำดับแรก ได้แก่ epoetin-alfa และ epoetin-beta ยา 2 ขนิดนี้ต้องให้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยา darbepoetin alfa ซึ่งพัฒนามาจาก epoetin-alfa โดยจะเพิ่มสายคาร์โบไฮเดรตทำให้มีน้ำหนักโมเลกุลเพิ่มขึ้น และมีค่าครึ่งชีวิตยาวนานขึ้น ซึ่งสามารถบริหารยาเป็นสัปดาห์ละครั้ง หรือสองสัปดาห์ครั้งได้ ส่วนยา methoxy polyethylene glycol epoetin-beta มีการเชื่อมต่ออีริโทรโพอิตินด้วยโปรตีนโมเลกุลใหญ่ ทำให้สามารถกระตุ้นตัวรับอีริโทรโพอิตินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าครึ่งชีวิตของยายาวนานขึ้น และสามารถให้ยาห่างขึ้นคือให้เดือนละครั้งได้

การติดตามประสิทธิภาพในการรักษาจากยาทำได้อย่างไร
เป้าหมายของระดับฮีโมโกลบินในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังคือ 10-11.5 กรัมต่อเดซิลิตร โดยแพทย์จะติดตามระดับฮีโมโกลบินทุก 2-4 สัปดาห์ จนกระทั่งระดับฮีโมโกลบินคงที่ และตรวจติดตามเป็นระยะหลังจากนั้นโดยแพทย์จะควบคุมให้ระดับฮีโมโกลบินอยู่ในเป้าหมาย รวมทั้งระวังไม่ให้ค่าฮีโมโกลบินมากเกินไป เนื่องจากมีรายงานว่าหากระดับฮีโมโกลบินสูงกว่า 13 กรัมต่อเดซิลิตร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่นหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง การอุดตันของเส้นที่ใช้ฟอกเลือดในผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นต้น

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่ควรระวังในการใช้ยา
เนื่องจากยา EPO มีผลเพิ่มความดันโลหิตได้ ดังนั้นจึงต้องระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้ดี และในผู้ป่วยโรคลมชัก หรือมีความเสี่ยงต่อการชัก

ให้ยา EPO เข้าร่างกายอย่างไร
ยา EPO เป็นยาฉีด สามารถฉีดให้ทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งขนาดยาที่ใช้จะแตกต่างกัน โดยการให้ยาทางหลอดเลือดดำจะใช้ขนาดยาอีริโทรโพอิตินที่มากกว่าการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ ควรฉีดอย่างช้าๆ ประมาณ 1-5 นาทีขึ้นกับขนาดของยาที่ได้รับ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สามารถให้ยาเข้าในเส้นเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือดได้โดยให้ไปในระหว่างการฟอกเลือดได้เลย

การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ปริมาตรที่มากที่สุดสำหรับการฉีดยาแต่ละครั้งคือ 1 มิลลิลิตร ถ้าต้องให้ยาในปริมาณที่มากกว่านี้ ให้พิจารณาฉีดในตำแหน่งอื่นเพิ่ม ตำแหน่งที่ใช้ในการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้แก่ ต้นแขน ต้นขา หรือผนังหน้าท้อง โดยให้ห่างจากสะดือ ฉีดสลับตำแหน่งไปในแต่ละครั้ง

การฉีดยาต้องไม่ผสมกับยาตัวอื่น และไม่นำไปผสมกับสารละลายใดๆ ในการฉีด นอกจากนี้ห้ามเขย่ายาฉีด EPO เพราะการเขย่าจะทำให้ไกลโคโปรตีนสลายตัวจนอาจทำให้ฤทธิ์การรักษาหมดไปได้

บรรจุภัณฑ์ของยา EPO เป็นแบบบรรจุในหลอดฉีดยาสำเร็จรูป (prefilled syringe) หรือในแบบปากกา (prefilled pen) ซึ่งใช้ครั้งเดียวเท่านั้น และเนื่องจากในแต่ละผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยยาหลายขนาด เช่น 2,000 IU/mL, 4000 IU/mL ดังนั้นจึงต้องทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับว่าเป็นขนาดยาที่ต้องการก่อนฉีดยาเสมอ

การเก็บรักษายา ทำอย่างไร
เก็บยาในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยให้เก็บในช่องธรรมดาของตู้เย็น (ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง) ไม่ให้ถูกแสง และก่อนฉีดยาควรนำออกมาวางไว้จนยามีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที หากรับยาจากโรงพยาบาลและนำกลับไปฉีดเองที่บ้าน ควรบรรจุในภาชนะที่เก็บความเย็นในระหว่างเดินทาง เมื่อถึงบ้านจึงนำยาเก็บในตู้เย็นในช่องธรรมดา

คำแนะนำทั่วไปในการใช้ยา
● ไม่ควรใช้ยาเมื่อพบว่ายาหมดอายุจากวันที่ระบุไว้บนฉลากยา และไม่ใช้ยาเมื่อกล่อง หรือพลาสติกบรรจุยาถูกเปิด หรือปิดไม่สนิท หรือพบของเหลวที่เป็นน้ำยา มีสี หรือเห็นได้ว่ามีสารอื่นๆ แขวนลอยอยู่
● ไม่ควรทิ้งเข็มฉีดยาไปกับขยะเปียก หรือขยะแห้งจากบ้าน แต่ควรรวบรวมมาทิ้งในสถานที่จัดไว้ให้ในโรงพยาบาล
● เมื่อลืมฉีดยา ให้ฉีดทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้ในวันที่จะต้องฉีดเข็มถัดไป ก็ให้ฉีดตามปกติเพียงเข็มเดียว โดยไม่ต้องฉีดเพิ่ม


บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชนชน โดย
เภสัชกรหญิง ศยามล สุขขา (บริบาลเภสัชกรรม)
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


24 มิ.ย. 2558 เวลา 09:17 | อ่าน 4,184


รีวิวบ้านใหม่ ไอเดียสร้างบ้าน
 
แชร์
L
ซ่อน
แสดง
มาใหม่
นายกฯ ขอบคุณสมาคมธนาคารไทย หั่นดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME
57 25 เม.ย. 2567
รัฐบาลเชิญชวน ผู้กู้ยืม กยศ. ถูกดำเนินคดีในปี 2557 ที่ยังมีภาระหนี้ค้าง เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน
100 25 เม.ย. 2567
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พิจารณาอย่างเหมาะสมและรอบคอบ เผย 14 พ.ค. นี้ คกก. ค่าจ้างฯ เตรียมประชุมพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ
99 25 เม.ย. 2567
เพิ่มเบี้ยหวัดบำนาญ 11,000 บาท พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567
312 22 เม.ย. 2567
ดวงกับดาวประจำวันที่ 21-27 เมษายน 2567
320 21 เม.ย. 2567
เงื่อนไข คุณสมบัติ ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินเดือนละ 3,000 บาท เริ่มยื่นเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป
639 19 เม.ย. 2567
ก.พ. เพิ่มอัตราเงินข้าราชการบรรจุใหม่ และข้าราชการเก่า ตรวจสอบคุณสมบัติได้ที่นี่
1,353 15 เม.ย. 2567
รถไม่ค่อยวิ่ง ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตอนไหนดี ?
73 13 เม.ย. 2567
นายกฯ ย้ำโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ถึงพี่น้องประชาชนระดับท้องถิ่นและชุมชน
92 12 เม.ย. 2567
สุริยะ รับข้อสั่งการนายกฯ อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนช่วงสงกรานต์ 2567 “สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย เผยการเดินทางวันแรก (11 เม.ย. 2567) พบการเดินทางคึกคัก อุบัติเหตุลดลง
714 12 เม.ย. 2567
ดูเพิ่มเติม
 
หาเพื่อนไลน์
ซื้อขายรถบ้าน.com
เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์
หางานราชการ
  English
TOEIC กับ การขึ้นเงินเดือน GED VS กศน ไทย (สอบเทียบไทย) แนะนำที่เรียน IELTS ยอดนิยม ของ เด็กอินเตอร์ TOEIC Online GED CU-TEP SAT
 
บทความกลุ่มเดียวกัน