คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งครอบคลุม 4 มาตรการสำคัญคือ การจ้างงานผู้สูงอายุ การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage: RM) และการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ
ในส่วนของการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ที่เพียงพอ ในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ โดยกำหนดให้ กบช. เปิดรับสมาชิกตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดย นางนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายการออมและการลงทุนในภาพรวม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้จัดทำข้อมูลประมาณการอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณ (Replacement Rate) ของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ระบุว่า การออมเงินภายใต้กองทุน กบช. จะทำให้ผู้ออมมีเงินพอใช้หลังเกษียณในระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยหากลูกจ้างเริ่มทำงานเมื่ออายุ 25 ปี ได้รับค่าจ้าง 15,000 บาท เป็นทั้งผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมและเข้า กบช. โดยส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเช่นเดิม (ลูกจ้าง 3% นายจ้าง 3% รัฐ 1%) และส่งเงินเข้า กบช. ในอัตรา 3% (ปีที่ 1-3) 5% (ปีที่ 4-6) 7% (ปีที่ 7-9) และ 10% (ปีที่ 10 เป็นต้นไป) จะมีรายได้หลังเกษียณ 51,719 บาทต่อเดือน คิดเป็น 66% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งจะได้รับบำนาญรายเดือนเท่ากันทุกเดือนเป็นเวลา 20 ปี หรือ 240 เดือน
โดยมีสมมติฐานการคำนวณ ดังนี้
1.กองทุนประกันสังคมใช้สูตรผลประโยชน์ทดแทน 20+1.5% หมายความว่า เป็นสมาชิกมา 20 ปี ได้รับผลประโยชน์ทดแทน 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย (ไม่เกิน 15,000 บาท) และหลังจากปีที่ 20 จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกปีละ 1.5%
2.กบช. ได้รับผลประโยชน์ตามเงินสะสม + สมทบ ซึ่งกำหนดจ่ายในอัตราฝ่ายละ 3% (ปีที่ 1-3) 5% (ปีที่ 4-6) 7% (ปีที่ 7-9) และ 10% (ปีที่ 10 เป็นต้นไป) และกำหนดให้รายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท นายจ้างจ่ายฝ่ายเดียว รายได้มากกว่า 10,000 บาท จ่ายทั้งสองฝ่าย เพดานค่าจ้าง 60,000 บาท
3.ได้รับผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ โดยกองทุนประกันสังคม และ กบช. เกษียณอายุ 60 ปี
4.แรงงานเริ่มทำงานเมื่ออายุ 25 ปี ดังนั้น ทำงานในกองทุนประกันสังคม 35 ปี
5.กรณีผู้ประกันตนเดิมและเป็นสมาชิก กบช.: แรงงานเริ่มเข้า กบช. เมื่ออายุ 35 ปี (อายุเฉลี่ยสมาชิก ปกส.) ดังนั้น ทำงานใน กบช. 25 ปี
6.รับบำนาญรายเดือนเท่ากันทุกเดือน จำนวน 20 ปี หรือ 240 เดือน
7.อัตราเติบโตของค่าจ้าง 5% มาจากอัตราเงินเฟ้อ 3% และอัตราการเติบโตที่แท้จริง 2 %
8.อัตราผลประโยชน์จากการลงทุน 5%
9.แบ่งระดับค่าจ้างตามโครงสร้าง กบช. และค่าจ้างเฉลี่ย คือ ระดับต่ำกว่า 10,000 บาท (เริ่มต้นที่ 7,600 บาท) ระดับตั้งแต่ 10,001 – 60,000 บาท (เริ่มต้นที่ 20,500 บาท) ระดับสูงกว่า 60,000 บาทขึ้นไป และระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่ 16,000 บาท
ขอบคุณข่าวจาก
http://www.moneyandbanking.co.th/new/?p=8481