นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท หรือมาตรการช้อปช่วยชาติ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยประชาชนสามารถนำใบเสร็จซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคมนี้ รวมระยะเวลา 18 วัน ไปหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา ไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย คาดว่าช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนช่วงสิ้นปีได้ ทั้งนี้
สินค้าที่ไม่สามารถซื้อ และนำลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ได้แก่ สุรา เบียร์ ไวน์, ยาสูบ น้ำมัน และก๊าซ สำหรับเติมยานพาหนะ, รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
“การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้า หรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดว่าจะมีภาษีสูญเสียประมาณ 3.2 พันล้านบาท แต่จะเพิ่มยอดขายสินค้า หรือบริการ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 2 หมื่นล้านบาท”นายกอบศักดิ์ กล่าวและว่า นอกจากเงินจะสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.2%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แล้วจะยังส่งผลต่อการผลิตและการจ้างงานต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2560 อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ขณะเดียวกันมาตรการนี้ยังส่งผลให้มีการจูงใจให้ผู้ประกอบการร้านค้าเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าในปี 2560 กระทรวงการคลังจะออกมาตรการในลักษณะนี้อีกหรือไม่ เนื่องจากต้องประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปีหน้าก่อนถึงจะทราบว่าจำเป็นต้องออกมาตรการนี้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการช้อปช่วยชาติที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีบุคลธรรมดาไม่เกิน 15,000 บาท กำหนดการใช้สิทธิลดภาษีตามฐานเงินได้สุทธิ แบ่งเป็น 8 ขั้นภาษีได้แก่ 1.เงินได้สุทธิระหว่าง 0 – 150,000 บาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 0% 2.เงินได้สุทธิระหว่าง 150,001 – 3 แสนบาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 5% หรือ 750 บาท 3.เงินได้สุทธิระหว่าง 350,001 – 5 แสนบาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 10% หรือ 1,500 บาท 4.เงินได้สุทธิระหว่าง 500,001 – 7.5 แสนบาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 15% หรือ 2,250 บาท 5.เงินได้สุทธิระหว่าง 750,001 – 1 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 20% หรือ 3,000 บาท 6.เงินได้สุทธิระหว่าง 1,000,001 – 2 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 25% หรือ 3,750 บาท 7.เงินได้สุทธิระหว่าง 2,000,001 – 4 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 30% หรือ 4,500 บาท และรายได้มากกว่า 4 ล้านบาทต่อปี ยกเว้นภาษีสูงสุด 35% หรือไม่เกิน 5,250 บาท
ข้อมูลจาก มติชนออไลน์
http://www.matichon.co.th/news/393332