อกไข่ดาว กระดานโต้คลื่น ตะปูตอกฝาผนังคำล้อเลียนต่าง ๆ ที่สาว ๆ ยุคปัจจุบันไม่อยากจะได้ยินสาว ๆ บางท่านก็ไปศัลยกรรมหน้าอกกันบ้าง ใส่ชุดชั้นในเสริมอึ๋มกันบ้าง บางยี่ห้อเห็นแล้วชวนสงสัยว่าต้องตากกี่วันถึงจะแห้ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเจอกับมรสุมแกมี)
ในขณะที่คุณผู้หญิงกำลังกังวลกับขนาดคัพ A B C อยู่นั้นอย่าลืมให้ความสนใจ ดูแลสุขภาพเต้านมกันนะคะ เพราะมะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก ไม่ว่าคุณจะมีเต้าเล็กหรือเต้าใหญ่
ถ้าให้ผู้หญิงมายืนเรียงกัน 8 คน หนึ่งในนั้นจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ (lifetime risk 1 : 8) 1 ใน 8 คน...ใกล้ตัวมากใช่มั้ยคะ
ดูแลอย่างไร ? โดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง แค่เดือนละครั้งเองค่ะ
ตรวจวันไหนดี ? สำหรับคนที่ยังมีประจำเดือนอยู่ ควรจะตรวจหลังจากประจำเดือนหมดใหม่ ๆ โดยนับจากประจำเดือนวันแรก 7-10 วัน
ทีนี้ประจำเดือนวันแรกคือวันไหน ท่านที่ได้อ่านคอลัมน์แรก ได้จดกันบ้างรึยังคะ ส่วนคุณพี่ ๆ ที่หมดประจำเดือนแล้ว ก็ตรวจวันเดียวกันของทุกเดือนก็ได้ค่ะ เช่นทุกวันที่ 1 ของเดือน วันลอตเตอรี่ออกก็ได้นะคะ ถ้าจะทำให้จำง่ายขึ้น
การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ไม่ยากนะคะ แค่เข้าห้องน้ำ ถอดเสื้อ ยืนหน้ากระจก แล้วก็ "ดู" กับ "คลำ" ค่ะ
"ดู" มี 3 ท่า เริ่มจากท่า
-ท่าที่หนึ่ง ยืนสบาย ๆ ปล่อยแขนข้างลำตัว แล้วสังเกตดูว่า เต้านมสองข้างเท่ากันหรือไม่ หัวนมบุ๋ม ผิวของเต้านมขรุขระเหมือนผิวส้มรึเปล่า
-ท่าที่สอง หลังจากนั้นก็ยกแขน ประสานมือหลังศีรษะ พร้อมสังเกตการเคลื่อนไหวขึ้นลงของเต้านมว่าเท่ากันหรือไม่
-ท่าที่สาม ยกมือเท้าเอว กดที่สะโพก เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกเกร็งขึ้นมา
"คลำ"
คลําทีละข้างนะคะ เช่น ถ้าจะคลำข้างซ้ายก่อน ก็ยกแขนซ้ายขึ้น ไม่ต้องเกร็ง แล้วก็ใช้มือขวาคลำ โดยใช้ 3 นิ้ว คือนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง เป็นหลัก คลำเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา ค่อย ๆ วนจากรอบนอก คลำวนให้แคบลงจนถึงหัวนม แล้วลองบีบหัวนมเบา ๆ ว่ามีน้ำหรือหนองออกมาหรือไม่ คลำเสร็จก็เปลี่ยนมาคลำข้างขวา โดยใช้มือซ้ายคลำในลักษณะเดียวกัน เท่านี้ก็เสร็จแล้วค่ะ
ลองทำตามได้เลยนะคะ ดู (ยืนสบาย-ยกแขน-เท้าเอว) คลำ (ซ้ายขวา วนนอกเข้าใน บีบหัวนม)
น่าจะมีนักร้องเอาท่านี้ไปเต้นประกอบเพลงนะคะ คงจะมีประโยชน์ทีเดียว
หลังจากทำการบ้านตรวจด้วยตัวเองเดือนละครั้งเสร็จแล้วอย่าลืมมาให้คุณหมอตรวจการบ้านด้วยนะคะมาให้หมอหรือพยาบาลตรวจทุก ๆ 1-3 ปี ในคนที่อายุ 20-39 ปี ส่วนในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรจะต้องมาให้หมอตรวจ และตรวจแมมโมกราฟฟีทุก ๆ ปีค่ะ
ใส่ใจเต้านมกันขนาดนี้ ถ้าเราเป็นผู้โชคร้าย 1 ใน 8 จริง ๆ เราก็จะพบโรคได้เร็วขึ้น โอกาสรักษาหายก็มากขึ้นค่ะ
โดย พญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
ข้อมูลจาก
www.thairath.co.th และ
www.prachachat.net