“อภิศักดิ์” สั่งกรมบัญชีกลางจับมือแบงก์กรุงไทยออกบัตรรักษาพยาบาลให้ข้าราชการ และบุคคลในครอบครัว 4.6 ล้านคน นำไปใช้แสดงสิทธิ์ขอรับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลหวังอุดการรั่วไหล หลังยอดเบิกจ่ายพุ่งจากวงเงิน 60,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 71,000 ล้านบาท มั่นใจเดือน ต.ค.นี้เสร็จแน่นอน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่าได้สั่งให้กรมบัญชีกลางนำระบบการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment มาใช้กับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ เพื่ออุดช่องโหว่และลดการทุจริต หลังจากกระทรวงการคลังชะลอโครงการให้บริษัทประกันชีวิตเข้ามาประกันเรื่องการรักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการ เนื่องจากมีกระแสต่อต้านทั้งที่ผลการศึกษาเรื่องดังกล่าว มีข้อดีและยังช่วยประหยัดเงินงบประมาณได้อีกด้วย
“งบประมาณด้านรักษาพยาบาลข้าราชการปี 59 สำนักงบประมาณตั้งเอาไว้ 60,000 ล้านบาทแต่เบิกจ่ายจริงสูงถึง 71,000 ล้านบาท ซึ่งเราเชื่อว่า มีการทุจริตหรือไม่โปร่งใสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องมีระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่สามารถตรวจสอบได้ โดยได้เสนอให้กรมบัญชีกลางไปหารือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อออกแบบวิธีการชำระเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งในเบื้องต้น ข้าราชการต้องมีบัตรเพิ่มเติมอีก 1 ใบ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับบัตรเครดิต ที่บรรจุข้อมูลต่างๆ ลงในชิพการ์ด เช่น ประวัติการักษาโรคและหน่วยงานที่สังกัด เป็นต้น โดยคาดว่า จะเริ่มแจกบัตรรักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการได้ต้นปีงบประมาณ 2561 หรือในเดือน ต.ค.นี้” นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า รมว.คลัง ต้องการให้กรมบัญชีกลางวางระบบควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้มีความถูกต้องและเข้มงวด เพราะที่ผ่านมายอมรับว่ามีข้าราชการหรือคนในครอบครัวที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว แต่นำสิทธิ์ไปใช้อย่างไม่ถูกต้องเช่น เบิกยาจากโรงพยาบาลเกินความจำเป็นแล้วนำยาไปขาย หรือที่เรียกว่า ช็อปปิ้งยา และยังมีเรื่องโรงพยาบาลเบิกค่ารักษาพยาบาลและจ่ายยาแพงเกินจริง เป็นต้น “ปัจจุบันข้าราชการ 1 คน จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลประกอบด้วย พ่อ แม่ สามีหรือภรรยาและลูก ซึ่งรวมแล้วมีประมาณ 4.2-4.6 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นภาระต่อเงินงบประมาณ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี แต่เราจะไปตัดสิทธิประโยชน์ของข้าราชการไม่ได้ จึงต้องพยายามควบคุมการเบิกจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการรั่วไหลให้มากที่สุด”
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ข้าราชการต้องใช้บัตรประจำตัวข้าราชการในการติดต่อกับโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลในบัตรระบุเพียงแต่ชื่อ นามสกุล หน่วยงานสังกัดและชั้นยศเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งสิ้น
และที่สำคัญข้อมูลในบัตรก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์เนื่องจากไม่มีชิพการ์ด แต่เมื่อถึงเวลาการจ่ายเงิน โรงพยาบาลก็จะโอนข้อมูลที่เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ายา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ มายังกรมบัญชีกลางเพื่อขอเบิกจ่ายเงิน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดกรมบัญชีกลางก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของโรงพยาบาล ซึ่งกว่าตรวจสอบความถูกต้องได้หมดก็จะใช้เวลานานมาก “การมีบัตรสุขภาพของข้าราชการจะเหมือนกับมีบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ใบ เมื่อข้าราชการเข้าโรงพยาบาลก็ต้องโชว์บัตรและรูดบัตรรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเช่น ชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากทางราชการ โดยข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของบัญชีกลาง เพื่อนำมาประมวลผลว่า ข้าราชการผู้นั้นพบแพทย์บ่อยแค่ไหน มีการเวียนเทียนไปโรงพยาบาลอื่นๆอีกหรือไม่ และยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลนั้น มีปริมาณมากเกินไปหรือไม่ หากกรมบัญชีกลางพบสิ่งผิดปกติก็จะสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ทันที จากปัจจุบันที่กรมบัญชีกลางมีหน้าที่จ่ายเงินเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูแลข้าราชการได้อย่างทั่วถึง” นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวว่า ในต้นปีงบประมาณ 2561 หรือเดือน ต.ค.2560 กรมบัญชีกลางจะสามารถแจกบัตรรักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการได้ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับผู้แทนจากธนาคารกรุงไทย และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (เคทีซี) โดยระบบใหม่นี้ ตนมีความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายเงินทางด้านรักษาพยาบาลข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะประหยัดเงินงบประมาณได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอยู่ระหว่างการวางแผนและการวางระบบให้เกิดความชัดเจน “ขอยืนยันว่า สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของข้าราชการยังอยู่เหมือนเดิมทุกประการ เพียงแต่ต้องนำบัตรไปใช้ควบคู่กับการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบมีความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ดังนั้น ข้าราชการรวมถึงบุคคลที่ได้รับสิทธิ์ที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็จะเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าช็อปปิ้งยา เพราะกฎหมายกำหนดรุนแรงถึงขั้นไล่ออกและเป็นคดีอาญา ขณะที่ข้าราชการที่ดี ก็ไม่ต้องกังวลเพราะไม่ได้ลิดรอนสิทธิ์”
ข้อมูลจาก
http://www.thairath.co.th/content/854569