ครม.เห็นชอบตำแหน่งพยาบาล 8,900 ตำแหน่งใน 3 ปี สำหรับปี 60 บวกกับตำแหน่งว่างของสธ. 2,200 จะได้บรรจุ 5 พันคน ให้ สธ.ทำความชัดเจนเสนอ ครม. 23 พ.ค.นี้อีกครั้ง นายกฯ มอบ "ก.พ.-ก.พ.ร.-ทุกกระทรวง" ปรับโครงสร้างภายในใหม่ทั้งหมด เครือข่ายพยาบาลฯ พอใจ แต่ขอดูมติ ครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการว่า ตนรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการประชุม โดยได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหาวิธีการเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น
"ผมขอใช้คำว่า จะมีการทยอยบรรจุให้ โดยใช้อัตราภายในไปก่อน นี่คือหลักการที่สามารถปรับได้จำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็จะมีการเพิ่มเติมให้ในห้วงเวลา 3 ปี เบื้องต้นก็แค่นี้ไปก่อน คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในขณะนี้ สิ่งสำคัญก็ต้องดูแลในภาพรวมของรัฐบาลและส่วนราชการทั้งหมดด้วย ซึ่งมีทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ต้องดูว่าในอนาคตจะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาอยู่แบบนี้ แต่ก็ต้องมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ต้องให้บริการประชาชน"
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของพยาบาลนั้น เรามีการผลิตออกมาทุกปี ก็ต้องเข้ามาทำงานอยู่แล้ว ถามว่าจะบรรจุได้ทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งถ้ามีความจำเป็นก็ลาออกไปอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่าภาคเอกชนจะให้ทุนสำหรับผู้ที่เรียนพยาบาล และกลับไปยังสถานพยาบาลของตนเอง เรื่องนี้ก็ต้องมีการกลับไปคิดใหม่ หาวิธีการใหม่ อย่าไปคิดเพียงว่าแก้ปัญหาโดยการบรรจุใหม่อย่างเดียว เพราะวันข้างหน้ามันจะล้น สำหรับพยาบาลนั้น อย่างไรก็ขาด เพราะมีการลาออกไปอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นปัญหา เพราะรัฐไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้มากเท่าภาคเอกชน ไม่เช่นนั้นก็จะพันกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ
"แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลเรื่องนี้ ในส่วนของคนอื่นก็ต้องมีการปรับโครงสร้างภายในทุกๆ กระทรวงใหม่ทั้งหมด ซึ่งตนได้มอบภารกิจไปแล้ว ให้ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ไปดูว่าเราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภายในส่วนราชการใหม่หรือไม่ ทั้งหมดต้องทำงานสอดคล้องกันให้ได้ จะเชื่อมโยงกันอย่างไร ภายในกระทรวงจะทำอย่างไรให้มีการเพิ่มคนได้โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด หรือใช้ภายในวงเงินงบประมาณเดิม ดูทั้งเรื่องคนที่จะเกษียณอายุ และการบรรจุเข้ามาใหม่ ส่วนหนึ่งคือการสอบบรรจุ อีกส่วนคือการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมาใช้แค่การสอบเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างจะต้องชัดเจนขึ้น ขอรับข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่างๆ ไว้ รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวด้วย เพราะปัญหาเช่นนี้เกิดมาทุกปีโดยไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องของโครงสร้าง ก็ต้องทำให้เหมาะสมกับความจำเป็นและงบประมาณที่มีอยู่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ถึงการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวให้บรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 11,000 อัตราว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้นำเสนอแนวทางในที่ประชุมว่า อัตราว่างในปี 60 ที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถบรรจุได้คือ 2,200 อัตรา ดังนั้นจะเหลือ 8,800 อัตรา และหากดำเนินการบรรจุใน 3 ปีตั้งแต่ปีนี้ จะบรรจุได้ปีละ 2,900 อัตรา รวมกับจำนวนพยาบาลที่จะเกษียณอายุราชการ หากดำเนินการในลักษณะเดียวกันจะสามารถบรรจุพยาบาลได้ทั้งหมด ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นมติ ครม. เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาที่มีการนำเสนอ ซึ่งที่ประชุมก็พึงพอใจ
"นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอตั้งคณะกรรมการเป้าหมายนโยบายบุคลากรสาธารณสุขขึ้น เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรภายในกระทรวงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาในรายปี ตามที่นายกฯ เน้นย้ำทุกกระทรวง ทบวง กรมว่า ให้แก้ปัญหาทั้งระบบ โดยคาดว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถนำเสนอ ครม.เพื่อแก้ปัญหาได้ในวันที่ 23พ.ค.นี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะแรงกดดันจากพยาบาลที่ขู่จะลาออกรัฐบาลถึงลงมาแก้ปัญหา แต่เพราะรัฐบาลทุกปัญหาด้วยฟังเหตุด้วยผล และพบว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริง" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
ด้าน น.ส.รุ่งทิวา พนมแก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.ร้อยเอ็ด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ประจำภาคอีสาน กล่าวถึงกรณีมติ ครม.พิจารณาเห็นชอบตามที่มีการเสนอเรื่องการขอบรรจุอัตราตำแหน่งข้าราชการของพยาบาลวิชาชีพ 8,900 อัตราใน 3 ปี และในปีนี้ให้อีก 2,200 อัตรา ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างของ สธ. โดยให้ สธ.กลับไปทำให้ชัดเจน และเข้าสู่การประชุม ครม.ครั้งหน้า ว่ารู้สึกพอใจ และขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี รัฐบาลกระทรวงสาธารณสุข และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็อยากได้ความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นมติ ครม. จึงจะมั่นใจ
อ่านต่อ
https://goo.gl/5QFb5H