ตัวอย่างสายสัมพันธ์ในประชาคมอาเซียนที่มีมายาวนาน
อย่างหนึ่งคือการมอบรางวัลแมกไซไซ
มูลนิธิรางวัล รามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award Foundation) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติ อดีตประธานาธิบดี รามอน แมกไซไซ ของฟิลิปปินส์ และเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามของการอุทิศตนทำงานบริการประชาชนในสังคมประชาธิปไตย
รางวัลนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก จนได้รับการขนานนามว่า เป็น รางวัลโนเบล ของเอเชีย ซึ่งหากปีใดไม่มีผู้เหมาะสมก็จะไม่มีการพิจารณามอบรางวัล
สำหรับผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญสดุดี และเงินรางวัลประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,000,000 บาท โดยมีพิธีมอบที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ อดีตประธานาธิบดี รามอน แมกไซไซ ผู้เป็นที่มาของมูลนิธิรางวัล รามอน แมกไซไซ
มูลนิธิรางวัล รามอน แมกไซไซ มอบรางวัลแก่บุคคล และนิติบุคคลในเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จอันดียิ่งใน 6 สาขา ได้แก่ 1.บริการรัฐกิจ (Government Service) 2.บริการสาธารณะ (Public Service) 3.ผู้นำชุมชน (Community Leadership) 4.วารสารศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ (Journalism, Literature and Creative Communication arts) 5.สันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ (Peace and International Understanding) 6.ผู้นำในภาวะฉุกเฉิน (Emergent Leadership)
สำหรับบุคคลและองค์กรของไทยที่เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ มีมาแล้วดังนี้
ปี 1961 คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง สาขาบริการสาธารณะ ปี 1965 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สาขาบริการรัฐกิจ ปี 1966 นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว สาขาบริการรัฐกิจ ปี 1967 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร สาขาบริการสาธารณะ ปี 1971 นายประยูร จรรยาวงษ์ สาขาวารสารศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ ปี 1973 นายแพทย์กระแสร์ ชนะวงศ์ สาขาผู้นำชุมชน ปี 1975 พระจำรูญ ปานจันทร์ สาขาบริการสาธารณะ ปี 1978 นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ สาขาบริการสาธารณะ ปี 1981 นายแพทย์ประเวศ วะสี สาขาบริการรัฐกิจ ปี 1983 นายเฟื้อ หริพิทักษ์ สาขาบริการสาธารณะ ปี 1984 นายทองใบ ทองเปาด์ สาขาบริการสาธารณะ ปี 1987 นายแพทย์อารี วัลยะเสวี สาขาผู้นำชุมชน ปี 1988 โครงการหลวง สาขาสันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ ปี 1989 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สาขาสันติภาพ และความเข้าใจระหว่างประเทศ
ปี 1991 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สาขาบริการสาธารณะ ปี 1992 พลตรีจำลอง ศรีเมือง สาขาบริการรัฐกิจ ปี 1994 นายมีชัย วีระไวทยะ สาขาบริการรัฐกิจ ปี 1997 นายอานันท์ ปันยารชุน สาขาบริการรัฐกิจ ปี 1998 นายโสภณ สุภาพงษ์ สาขาบริการสาธารณะ ปี 2004 นายประยงค์ รณรงค์ สาขาผู้นำชุมชน ปี 2005 นายจอน อึ๊งภากรณ์ สาขาบริการรัฐกิจ ปี 2008 นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ สาขาบริการสาธารณะ ปี 2009 ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ สาขาบริการสาธารณะ
ทั้งหมดนี้นำมาจากข้อมูลในหนังสือ รู้รอบตอบได้เรื่องอาเซียน เล่ม 1 ที่ให้ความกระจ่างไว้.
“ซี.12”
ข้อมูลจาก
www.thairath.co.th โดย ซี.12
27 ตุลาคม 2555, 05:00 น.