คำถาม ตามที่ได้มีผู้หารือผ่านเว็บไซด์ของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ไปทาง E – Mail :
[email protected] เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 กรณีที่เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 5 สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 และลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ 9 ปี 1 เดือน 8 วัน มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญหรือไม่ และเป็นเงินจำนวนเงินเท่าไร
คำตอบ กรมบัญชีกลางได้ชี้แจงดังนี้
ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494
มาตรา 9 ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
(1) เหตุทดแทน
(2) เหตุทุพพลภาพ
(3) เหตุสูงอายุ
(4) เหตุรับราชการนาน
มาตรา 11 บำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนนั้น ให้แก่ข้าราชการซึ่งออกจากประจำการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง หรือซึ่งมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด หรือซึ่งออกตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือทหารซึ่งออกจากกองหนุนเบี้ยหวัด
มาตรา 12 บำเหน็จบำนาญเหตุทุพพลภาพนั้น ให้แก่ข้าราชการผู้ป่วยเจ็บทุพพลภาพซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรอง ได้ตรวจแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป
มาตรา 13 บำเหน็จบำนาญเหตุสูงอายุนั้น ให้แก่ข้าราชการผู้มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว ถ้าข้าราชการครบห้าสิบปีบริบูรณ์แล้ว ประสงค์จะลาออกจากราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุสูงอายุได้
มาตรา 14 บำเหน็จบำนาญเหตุรับราชการนานนั้น ให้แก่ข้าราชการซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบสามสิบปีบริบูรณ์แล้ว
ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณาบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว ประสงค์จะลาออกจากราชการก็ให้มีเวลาราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุรับราชการนานได้
มาตรา 15 ข้าราชการผู้ซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญไม่ถึงสิบปีบริบูรณ์มีสิทธได้รับบำเหน็จข้าราชการ ผู้ซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตั้งแต่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิได้รับบำนาญ
มาตรา 17 ข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบสิบปีบริบูรณ์แล้ว ออกจากราชการเพราะลาออก และไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญปกติตามมาตรา 9 ก็ให้ได้รับบำเหน็จตามเกณฑ์ในมาตรา 32
มาตรา 29 เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ ให้นับแต่จำนวนปี เศษของปีถ้าครึ่งให้นับเป็นหนึ่งปี…………..
ข้อกฎหมาย
กรณีที่มีเวลาราชการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับบำเหน็จ หรือมีเวลาราชการ ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับบำนาญ นั้น ต้องเป็นการออกจากราชการด้วยเหตุ ต่อไปนี้ คือ
1. ทางราชการสั่งให้ออกเหตุทดแทน หรือทุพพลภาพ (มาตรา 11)
2. ลาออกเองด้วยเหตุทุพพลภาพ ต้องมีใบรับรองแพทย์ให้พิจารณาด้วย (มาตรา 12)
3. ลาออกเอง ด้วยเหตุสูงอายุ เมื่อมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป หรือทางราชการสั่งให้ออกกรณีเกษียณอายุ อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 13)
4. ลาออกเอง ด้วยเหตุรับราชการนาน อายุตัวเท่าใดก็ได้ แต่ต้องมีเวลาราชการ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (มาตรา 14)
กรณีที่ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเนื่องจากไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่ง ตามาตราดังกล่าวข้างต้น หากมีเวลาราชการ ตั้งแต่ 9 ปี 6 เดือนขึ้นไป (ปัดเป็น 10 ปี ให้ได้รับบำเหน็จตามมาตรา 17)
ข้อเท็จจริง
ผู้หารือรับราชการ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 และได้ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ 9 ปี 1เดือน 8 วัน สามารถนับเวลาราชการได้ 9 ปี (เศษของปีไม่ถึง 6 เดือนให้ปัดทิ้ง)
** มีเวลาราชการ 9 ปี (ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) แต่เหตุที่ออกจากราชการไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 11/12/13 และ 14 จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามมาตราดังกล่าวได้
** เวลาราชการ 9 ปี 1 เดือน 8 วัน ไม่สามารถปัดเป็น 10 ปีได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามมาตรา 17 ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยกรุณาสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2-2713105
รูปจาก businessformystudent.weebly.com