สพฐ.ขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2560 บูรณาการโรงเรียนดีใกล้บ้าน-โรงเรียนแม่เหล็ก-โรงเรียนขนาดเล็ก เข้าร่วมโครงการอีก 4,081 โรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนประชารัฐเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 7,423 โรงเรียน
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 3858/2560
สพฐ.ขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2560
บูรณาการโรงเรียนดีใกล้บ้าน-โรงเรียนแม่เหล็ก-โรงเรียนขนาดเล็ก เข้าร่วมโครงการอีก 4,081 โรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนประชารัฐเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 7,423 โรงเรียน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วางแผนขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2560 จัดประชุมผู้รับผิดชอบในการพัฒนาระบบบริหารจัดการโครงการและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยบูรณาการโรงเรียนดีใกล้บ้าน-โรงเรียนแม่เหล็ก-โรงเรียนขนาดเล็ก เข้าร่วมโครงการในปีนี้พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนประชารัฐ" จำนวน 4,081 โรงเรียน อันจะส่งผลโรงเรียนประชารัฐเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็น 7,423 โรงเรียน
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมบางกอกพาเลส - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้จัดการประชุมพร้อมกัน 2 คณะ คือ การประชุมสัมมนาการบริหารจัดการโครงการโรงเรียนประชารัฐ และการประชุมปฏิบัติการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของ สพฐ. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 2
• การประชุมสัมมนาการบริหารจัดการโครงการโรงเรียนประชารัฐ
ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 3 โรงแรมบางกอกพาเลส
โดย ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด
ม.ล.ปริยดา ดิศกุล กล่าวว่า การประชุมสัมมนาดังกล่าวเพื่อวางแผนขับเคลื่อนการบริหารจัดการและการกำกับติดตามโครงการ ซึ่งได้เชิญผู้รับผิดชอบด้าน ICT และศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาละ 2 คน เข้าร่วมประชุมสัมมนา รวมทั้งสิ้น 450 คน ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2560 โดยมีหลักสูตรในการประชุมสัมมนา คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ (โรงเรียนดีใกล้บ้าน) การบริหารจัดการบัญชีกองทุนโรงเรียนประชารัฐ บทบาทของภาคเอกชนกับการขับเคลื่อนคุณภาพโรงเรียนประชารัฐ การบูรณาการสื่อ/นวัตกรรมออนไลน์สู่ห้องเรียนโรงเรียนประชารัฐ และก้าวต่อไปของการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ และโครงการโรงเรียนประชารัฐ (โรงเรียนดีใกล้บ้าน)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างมาก ทั้งข้อมูลไม่ตรงกัน ไม่เป็นปัจจุบัน การรับรายงานที่ล่าช้า จึงต้องการให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของ สพฐ.
เพราะ "ข้อมูล" ถือว่าเป็นแม่บทที่สำคัญก่อนที่จะวางแผนการทำงานในทุกด้านหรือการจัดสรรงบประมาณลงไป หากข้อมูลคลาดเคลื่อนย่อมส่งผลถึงประสิทธิภาพในการวางแผนและการขับเคลื่อนโครงการ
จึงฝากให้ศึกษานิเทศก์มีส่วนร่วมที่สำคัญในการดำเนินงานโครงการ เช่น ดูพิกัดพื้นที่และความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงเรียนประชารัฐที่จะเป็นโรงเรียนแม่เหล็ก เพื่อให้บริการกับโรงเรียนอื่น ๆ ซึ่งโรงเรียนแม่เหล็กจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณลงไป รวมทั้งให้ Shopping List ที่โรงเรียนสามารถเลือกเพื่อนำไปพัฒนาได้เอง โดยไม่ได้เป็นการสั่งการจากส่วนกลางลงไป
ส่วนผู้บริหารโรงเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 100 คน ก็ไม่ต้องกลัวที่จะควบรวมหรือไม่มีอัตรา เพราะสามารถเกลี่ยอัตราไปในโรงเรียนอื่น ๆ ได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากแต่ละปีมีอัตราเกษียณอายุราชการผู้บริหารโรงเรียนกว่า 2,000 อัตรา ทั้งนี้ จากผลการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียนเพียง 2 คน เมื่อควบรวมกับโรงเรียนอื่นแล้ว ทำให้เด็กมีเพื่อน มีอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนที่ดี ๆ ซึ่งทำให้เด็กมีความสุขมากกว่าที่จะเรียนกันเองตามลำพังไม่กี่คน ผู้ปกครองและชุมชนก็มีความสุขที่ลูกหลานได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่ดีมีความพร้อม แม้ก่อนหน้านั้นจะวิตกก็ตาม
จึงฝากให้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการโรงเรียน การพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับห้องเรียนประชารัฐ ให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลที่ครบถ้วน โปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาเรามีเงินเยอะ แต่ใช้ผิดที่ จึงต้องบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
• การประชุมปฏิบัติการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของ สพฐ. และการพิจารณาร่างมาตรฐานโรงเรียนประชารัฐ (ดีใกล้บ้าน) Best Practices โครงการโรงเรียนในฝัน ระดับประเทศ ประจำปี 2560
ระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 1 โรงแรมบางกอกพาเลส
โดย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด
รศ.นพ.โศภณ นภาธร กล่าวว่า สพฐ.ได้ร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะแรก มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 3,342 โรงเรียน ส่วนปีงบประมาณ 2560 ซึ่งเป็นการดำเนินงานระยะที่ 2 ได้บูรณาการโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนแม่เหล็ก และโรงเรียนขนาดเล็ก เข้าไว้ด้วยกัน จำนวน 4,081 โรงเรียน
ซึ่งทำให้โรงเรียนประชารัฐ (ดีใกล้บ้าน) ทั้งสองระยะมีจำนวนโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 7,423 โรงเรียน พร้อมกับเพิ่มวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการโรงเรียนเครือข่ายอีกด้วย โดย สพฐ. ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการโรงเรียนประชารัฐ (ดีใกล้บ้าน) ที่ 877/2560 สั่ง ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2560 เพื่อมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางดำเนินการ ตลอดจนการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงเรียนประชารัฐ
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม จึงได้มีการประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ที่มีอยู่ของ สพฐ. ร่วมกับภาคเอกชนได้ โดยเชิญผู้อำนวยการสำนัก ผู้รับผิดชอบระบบข้อมูลสารสนเทศของสำนักต่างๆ ภายใน สพฐ. ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทน World Bank เข้าร่วมประชุมจำนวน 40 คน
ทั้งนี้ ได้ฝากให้ที่ประชุมร่วมกันหารือเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ สพฐ. ให้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นฐานข้อมูลและข้อมูลสนับสนุนในการวางแผนและปัจจัยรอบด้าน เพื่อให้บรรลุพันธกิจของโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งจะต้องนำระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีอยู่แล้วในหลายระบบในสำนักต่าง ๆ เช่น ระบบบัญชี ระบบผลสัมฤทธิ์นักเรียน ระบบการรับนักเรียน ฯลฯ ที่จัดเก็บแตกต่างกันไป มาทำให้เกิดความเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อันจะส่งผลให้โรงเรียนและหน่วยปฏิบัติลดภาระในการกรอกข้อมูล สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/5381