ถานี ก.ค.ศ.
ครูต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อเข้าสู่ระบบการประเมินวิทยฐานะและการพัฒนาครูแนวใหม่
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทุกท่าน ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้นำเสนอข้อมูล
เบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับระบบการประเมินวิทยฐานะและการพัฒนาครูแนวใหม่ ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด (ว 20, ว 21 และ ว 22 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560) ไปแล้วนั้น เนื่องจากได้รับข้อคำถามจากข้าราชการครูหลายท่านว่าจะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อเข้าสู่ระบบใหม่ จึงขอถือโอกาสนี้สร้างความเข้าใจกับข้าราชการครูทุกท่าน ดังนี้
ตามหลักเกณฑ์ฯ ว 21/2560 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะไว้ 5 ข้อ คือ
1. มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะในแต่ละระดับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
2.มีชั่วโมงการปฏิบัติงานในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง (สำหรับขอวิทยฐานะครูชำนาญการและวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ) หรือไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมง ต่อปี (สำหรับขอวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญและวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ) โดยในชั่วโมงการปฏิบัติงานต้องมีชั่วโมง PLC ในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องมีชั่วโมงสอนขั้นต่ำตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดด้วย
3. ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยหรือจรรยาบรรณวิชาชีพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
4. ผ่านการพัฒนาตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด
และ 5. มีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย้อนหลัง 5 ปีการศึกษา โดยต้องมีผลการประเมินที่ผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษา
จากคุณสมบัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหากข้าราชการครูทุกท่านได้สั่งสมชั่วโมงการปฏิบัติงานในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องครบตามเงื่อนไขที่กำหนดเป็นเวลา 5 ปี และเป็นผู้มีวินัย คุณธรรมฯ ก็จะมีคุณสมบัติ ตามข้อ 1 - 3 ได้อย่างแน่นอน สำหรับคุณสมบัติข้อ 4 การผ่านการพัฒนาตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด นั้น ตาม ว 22/2560 กำหนดว่า ครูต้องเข้ารับการพัฒนาตามความต้องการจำเป็นในแต่ละปี โดยครอบคลุม 3 องค์ประกอบ คือ ความรู้ ทักษะ และความเป็นครู เพื่อให้มีคุณลักษณะที่คาดหวังของแต่ละวิทยฐานะ ปีละไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 20 ชั่วโมง และภายใน 5 ปี ต้องมีชั่วโมงการพัฒนาจำนวน 100 ชั่วโมง หากไม่ครบ 100 ชั่วโมง สามารถนำชั่วโมง PLC ส่วนที่เกิน 50 ชั่วโมงในแต่ละปีมานับรวมได้ ดังนั้น ในเบื้องต้นนี้ หากข้าราชการครูจะเลือกเข้ารับการอบรมในหลักสูตรใด จึงควรพิจารณาว่าหลักสูตรนั้น ๆ เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนตามความรับผิดชอบหรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการจำเป็นในการพัฒนาที่แท้จริงได้หรือไม่ ครอบคลุมองค์ประกอบการพัฒนาใดบ้าง และที่สำคัญคือต้องเป็นหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรองเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อได้รับการพัฒนาในแต่ละปีครบตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว จะถือว่าเป็นการผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งตามมาตรา 80 ด้วย โดยไม่ต้องมาเข้ารับการอบรมก่อนแต่งตั้งอีก
ในส่วนของคุณสมบัติข้อ 5 นั้น ครูทุกคนต้องได้รับการประเมินผลงานฯ เป็นประจำทุกปีการศึกษา โดยเป็นการประเมินจากหน้างานจริงที่ครูทำเป็นปกติอยู่แล้ว และเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา โดยผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งจะมีการประเมิน 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน และด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. จะได้นำรายละเอียด ในส่วนนี้มานำเสนอให้ได้รับทราบโอกาสต่อไป
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.”
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2560