โครงการที่จะพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยให้เจริญรุดหน้าเฉกเช่นในหลายประเทศ
รถไฟความเร็วสูง...เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค
หรือ เรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า รถไฟความเร็วสูงไทย – จีน
เป็นโครงการที่จะพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยให้เจริญรุดหน้าเฉกเช่นในหลายประเทศ
เป็นโครงการที่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัว
เป็นโครงการที่จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง
และที่สำคัญเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน วิ่งจาก กทม. ไปยัง จ.หนองคาย และสามารถเชื่อมโยงไป สปป.ลาว จีน ยุโรป และตะวันออกกลางในอนาคต
โดยในระยะที่ 1 เริ่มก่อสร้างจาก
กทม.ถึง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ประกอบด้วยสถานียกระดับ 6 สถานี ได้แก่ สถานีบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา
ด้วยอัตราความเร็วสูงสุดของรถไฟ 250 กม./ชม. นั้น ทำให้การเดินทางจาก กทม. ไปโคราช ใช้เวลาเพียงแค่ 1.17 ชม. คิดค่าโดยสารเพียง 535 บาท ซึ่งจะช่วยให้คนที่มีบ้านพักอยู่โคราช อยุธยา สระบุรี เดินทางไปทำงานใน กทม. แบบไป-กลับได้ ช่วยลดความแออัดในเมือง กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ประชาชนในท้องถิ่นมีงานมีรายได้มากขึ้น
ส่วนในระยะที่ 2 จะขยายเส้นทางด้านบนขึ้นไปสู่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ส่วนด้านล่างจะเชื่อมโยงลงไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือเขตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
การเลือกให้ภาคอีสาน เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทยนั้นมีนัยสำคัญ เพราะภาคอีสานเป็นภูมิภาคสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกที่กว้างขวาง สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวก มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีธรรมชาติที่สวยงาม มีผู้คนที่เป็นมิตร และที่ผ่านมามีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง จึงมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ตามนโยบายของรัฐบาล
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 60 ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ครม. ได้เห็นชอบ
ร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกทม.-โคราช งานจ้างออกแบบรายละเอียด เพื่อดำเนินการว่าจ้างบริษัท China Railway International Co.Ltd. และ China Railway Design Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนที่มีประสบการณ์ตรงในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission ในการออกแบบรายละเอียดงานโยธาระยะที่ 1 ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางยกระดับ อุโมงค์ สะพาน อาคาร ย่านสถานี และโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาอื่น ๆ วงเงินค่าจ้าง 1,706.771 ล้านบาท โดยใช้เวลาดำเนินการ 10 เดือน
สำหรับข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญางานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และ สัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งการจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการร่วมกันระหว่างไทยและจีน
โดยสรุปแล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่จะสำเร็จเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นบันไดแห่ง “โอกาส” นำการพัฒนามาสู่ภาคอีสาน และเป็นแรงดึงดูดการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว มายังประเทศไทย และตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง
ภาพ/ข่าว : กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์