มาตรการจูงใจและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ในวันนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย
อนาคตประเทศไทย กับการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจโดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างวิธีการผลิตทั้งระบบ จากการผลิตสินค้าธรรมดาทั่วไป เป็นสินค้าเชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากกว่าเดิม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่ามกลางภาวะการแข่งขันทางธุรกิจทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก จึงได้มีการนำ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” มาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ และเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล
นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคผลิตของไทยในปัจจุบัน ทำให้เราต้องอาศัยแรงงานจากเพื่อนบ้านจำนวนมาก ซ้ำเรายังกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ที่จำนวนประชากรวัยทำงานลดน้อยลงทุกวัน ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการใช้ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ในภาคการผลิต ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก และเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีในระดับแนวหน้าแล้ว ในจำนวนแรงงาน 10,000 คน เขามีหุ่นยนต์ราว 100 - 300 กว่าตัว ขณะที่ไทยเรามีราวๆ 50 กว่าตัวเท่านั้น และคาดว่าในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีก 2-3 ปีข้างหน้า ความต้องการในการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลก อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า
ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จนขาดดุลการค้าเป็นมูลค่าถึง 132,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในบ้านเราเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2569 ไทยจะมีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผลิตได้เอง ไม่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนใดๆ จากต่างประเทศ ตลอดจนขยายไปสู่ภาคบริการ เช่น การแพทย์ โลจิสติกส์ ท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ ได้อย่างมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ของอาเซียน
แม้จะยังคงมีกระแสความกังวลว่าเทคโนโลยีและเครื่องจักรกล จะเข้ามาแย่งงานจากคนในระบบแรงงาน แต่การพัฒนาที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น หลายบริษัทที่ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตได้สำเร็จแล้ว หุ่นยนต์เข้าไปเสริมการทำงานให้รวดเร็วและลื่นไหลมากขึ้น ขณะที่แรงงานที่เดิมเคยทำหน้าที่ตรงนั้น บางส่วนก็ปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่ในตำแหน่งงานอื่น ทำให้ธุรกิจขยายตัวได้มากขึ้น อีกส่วนได้รับการพัฒนาความรู้ขึ้นเป็นผู้ควบคุมระบบหุ่นยนต์แทน มีรายได้ที่สูงขึ้นตามมาด้วย
มาตรการจูงใจและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ในวันนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตและบริการแบบเกือบจะพลิกโฉม เพื่อที่จะเดินหน้าภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวทันกระแสของโลกได้
ภาพ/ข่าว : กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก