นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมทางวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2560 เรื่อง “ครูยุคใหม่...สร้างเด็กไทย 4.0”
ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ การสร้าง การใช้ และการเผยแพร่ผลงานวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผลงานนวัตกรรมต้นแบบของสถานศึกษา ที่เกิดจากการใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง จนมีคุณภาพและคุณค่าทางวิชาการที่เป็นแบบอย่างเพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 9 – 10 กันยายน 2560 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ขณะนี้บุคคลและหน่วยงานทุกภาคส่วนต่างตระหนักและเห็นความสำคัญของ “ครูและบุคลากรทางการศึกษา” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อคุณภาพของผู้เรียนที่จะเป็น “คนคุณภาพ” และเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต “ครูยุคใหม่...สร้างเด็กไทย 4.0” เป็นประเด็นที่นักการศึกษาร่วมกันพิจารณาและสร้างการตระหนักร่วมกันถึงอนาคตทางการศึกษา
ประเด็นแรก: พัฒนาการทางเทคโนโลยีและกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอาชีพต่างๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเด็กยุคใหม่จะต้องมีความสามารถในการทำงานที่ต้องอาศัยทักษะขั้นสูงในการคิดวิเคราะห์เป็นและคิดอย่างมีวิจารณญาณรวมถึงทักษะในการเข้าใจผู้อื่น
ประเด็นที่สอง: เราจะเตรียมการอย่างไรเพื่อการรองรับโลกอนาคต ประการแรก จากแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาของชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักและมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งนั่นหมายความว่า ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับระบบการจัดการศึกษาให้ทันกับความต้องการจำเป็นของสังคมที่จะต้องก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 โดยเน้นที่การพัฒนาผู้เรียนให้สามารถสร้างนวัตกรรม (Innovation) สร้างผลงาน และการสร้างทักษะส่วนบุคคล (Soft skills) ประการที่สอง การปฏิรูประบบการผลิตครู การพัฒนาครู โดยการกำหนดทิศทางการผลิตครูและการพัฒนาครูประจำการ หลักการผลิตครู โดยการสร้างครูให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ให้ได้ สถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตครูต้องเชื่อมโยงกระบวนการผลิตครูให้มีคุณลักษณะตามความต้องการจำเป็นของบริบทแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู สถาบันผลิตครูก็ต้องปรับกลยุทธ์ การผลิตให้สามารถสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู แต่ความเป็นครูสร้างได้ต้องสร้างโอกาสและประสบการณ์ให้แก่นิสิตนักศึกษาครูลงไปทำงานจริง ปฏิบัติงานจริงในโรงเรียน การเตรียมครูพี่เลี้ยงในโรงเรียนฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู พัฒนาระบบการนิเทศของอาจารย์นิเทศ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดตั้ง “สถาบันคุรุพัฒนา” ให้ทำหน้าที่ในการดูแลหลักสูตรเพื่อการพัฒนาครูทั้งระบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สพฐ. สอศ. และ กศน.
กระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมการเพื่อการสร้างเด็กไทยสู่อนาคต ด้วยการส่งเสริมและกำหนดเชิงนโยบายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปที่ต้นน้ำ คือ “ครู” เพราะครูจะเป็นผู้ที่จะก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงที่ตัวลูกศิษย์ กระบวนการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชนของครูและบุคลากร ทางการศึกษาที่จะต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันวางแผน ร่วมกันปฏิบัติการเพื่อสร้างสมรรถนะ ที่จำเป็นและสอดคล้องกับโลกอนาคต
นอกจากนี้ ภายในงานประชุมทางวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2560 ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การอภิปรายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาครูยุคใหม่” และ “ครูแบบไหน สอนอย่างไร สร้างเด็กไทย 4.0” การเสวนาพิเศษ เรื่อง “คิดนอกกรอบการศึกษาไทย โฉมใหม่นวัตกรรม” การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “ล้อมวงเรียนรู้การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และการบริหารการศึกษา” “Show Case PLC จากนโยบาย สู่การปฏิบัติจริงในห้องเรียน” ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ประจำปี 2560 คลินิกวิจัย เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้และการบริหารการศึกษา การประกาศผลรางวัลหนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม (ระดับประเทศ) คลินิกให้คำปรึกษาแนะนำด้านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา การแสดงนิทรรศการพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 นิทรรศการทางวิชาชีพ นิทรรศการผลงานวิจัย และนิทรรศการผลงาน หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรมของผู้ได้รับรางวัลระดับประเทศ ประจำปี 2560
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
ขอบคุณข้อมูล: คุรุสภา