สรรพากรกาง 8 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพรีดภาษีเต็มสูบปี 2556 เผยต้องเร่งสปีดปั๊มรายได้เพิ่มขึ้น 15% ผลพวงนโยบายลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ทำรายได้สูญกว่า 7 หมื่น ล. ฟาก "พีดับเบิลยูซี" จี้รัฐปรับภาษีบุคคลธรรมดาต่ำกว่า 37% ไม่ให้เหลื่อมล้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมแนะขจัดอุปสรรคทางภาษีที่ทำให้เอกชนไม่กล้าออกไปลงทุนต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเวทีสัมมนาภาษีและกฎหมายประจำปี ครั้งที่ 14 "ประเทศไทยและการผงาดของเอเชีย" จัดโดย "ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PWC) ประเทศไทย" โดยนายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน พีดับเบิลยูซี กล่าวว่า เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ประเทศไทยต้องเร่งปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีของกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินปันผล ภาษีเงินได้นิติบุคคล ควรมีการจัดการให้น่าดึงดูดและแข่งขันได้มากขึ้น
ขณะที่นายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหาร สายงานภาษีและกฎหมายพีดับเบิลยูซี กล่าวว่า หากภาครัฐจะส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น รัฐบาลต้องหามาตรการจูงใจ และแนวทางในการจัดการที่จะทำให้นักลงทุนสามารถเก็บผลกำไรไว้ในเมืองไทยให้ได้ หากประเทศไทยยังมีอัตราภาษีสูงกว่าประเทศอื่น ๆ จะทำให้เงินลงทุนไหลไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าหรือไม่มีภาษี เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์
แม้ว่ารัฐจะมีการลดภาษีนิติบุคคลแล้ว แต่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปัจจุบันอัตราสูงสุดอยู่ที่ 37% เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างกันมากด้วย
นอกจากนี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการขจัดอุปสรรคที่ทำให้เอกชนไม่กล้าออกไปลงทุนต่างประเทศ ยกตัวอย่าง มาตรา 70 ตรี ที่บัญญัติไว้ว่า การส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ ถือเป็นการขาย ไม่เว้นแม้แต่กรณีจะเป็นการส่งสินค้าวัตถุดิบไปสต๊อกไว้ในต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้ขายก็ตาม ผู้ประกอบการต้องประเมินกำไรแล้วเสียภาษีทันที
ขณะที่นายมานิต นิธิประทีป รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงภาษีหลายรายการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปิดเออีซี โดยดำเนินการต่อเนื่องจากการลดภาษีนิติบุคคลในวันที่ 1 ม.ค. 2556 จะเหลือ 20% ซึ่งได้เสนอแก้กฎหมายให้เป็นมาตรการถาวรแล้ว ซึ่งขณะนี้นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขปรับปรุงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีความเหมาะสมขึ้น
"การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่ทำไปแล้วคือ ลดภาษีนิติบุคคล ตอนนี้กำลังดูเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ ทุกคนจะบอกว่าอัตราของเราค่อนข้างสูง ซึ่งก็กำลังดูอยู่ว่าจะปรับยังไง แต่การปรับอะไรแต่ละตัวกระทบงบประมาณค่อนข้างสูงมาก" นายมานิตกล่าว
ขณะเดียวกันกรมก็มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีหลายด้าน โดยจะเริ่มเห็นการดำเนินการในปี 2556 ได้แก่ 1.การกำกับดูแลอย่างเป็นระบบทั้งซัพพลายเชน โดยให้หน่วยภาษีขนาดใหญ่ (แอลทีโอ) ส่งรายชื่อบริษัทที่ซื้อขายระหว่างกัน ตั้งแต้ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้สรรพากรภาค/พื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งดำเนินการไปหลายธุรกิจแล้ว เช่น ปุ๋ย กระดาษ แอร์ เป็นต้น
2.การสำรวจและติดตามธุรกรรมใหม่ ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ มีการตั้งหน่วยฮันต์ (ล่า) บนอินเทอร์เน็ต ที่จะมีระบบติดตามอย่างใกล้ชิด และกำลังสร้างระบบภาษี โดยมีแนวคิดว่าจะให้ผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านระบบอีคอมเมิร์ซต้องยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) 3.ติดตามธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่มีแนวโน้มเสียภาษีไม่ถูกต้อง 4.การเร่งคืนภาษี เพราะเมื่อคืนภาษีเร็ว บริษัทก็จะเอาเงินภาษีไปลงทุนต่อ ก็จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามา
5.การยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมแนบซอฟต์ไฟล์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ และต่อไปจะให้มีการยื่นสรุปรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายเป็นรายเดือน ว่ามีการซื้อ-ขายกับใครบ้าง เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้นำข้อมูลมาลงในระบบ 6.บูรณาการฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษี โดยเชื่อมโยง 3 กรมภาษี
7.การขยายเวลาการยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตจะได้ขยายอีก 8 วัน และ 8.เพิ่มช่องทางการชำระภาษีผ่านบัตรเครดิต เคาน์เตอร์เซอร์วิส และสมาร์ทการ์ด
นายมานิตกล่าวอีกว่า ยังมีมาตรการภาษีระหว่างประเทศโดยเจรจาภาษีซ้อนอย่างต่อเนื่อง ที่่กำลังดำเนินการคือ การเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า โดยเจรจากับหน่วยงานภาษีของประเทศที่มีบริษัทมาตั้งบริษัทลูกในไทย ให้ประเมินผลกำไรของบริษัทล่วงหน้า เพื่อกำหนดการชำระภาษีและดำเนินมาตรการ ปิดช่องโหว่กรณีที่มี
การมาตั้งบริษัทลูกในเมืองไทยด้วยทุนต่ำ แต่มีการกู้เงินจำนวนมากซึ่งทำให้เสียภาษีต่ำกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วยังนำมาหักค่าใช้จ่ายได้อีก ถือเป็นการเลี่ยงภาษีรูปแบบหนึ่ง โดยจะกำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้ชัดเจน
"เป้าหมายจัดเก็บรายได้รวมของกรมสรรพากรปีงบประมาณ 2556 อยู่ที่ 1.774 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนกว่า 9% ขณะที่ประเมินว่าจะมีการสูญเสียรายได้จากการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% จาก 23% อีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นภาษีที่จะต้องเก็บให้ได้เพิ่มขึ้น 15% จึงจะเป็นไปตามเป้า" รองอธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
ข้อมูลจาก
http://www.prachachat.net www.matichon.co.th วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:12:37 น.