สนามหลวง มีมาแต่แรกสถาปนากรุึงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) กับพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นบริเวณที่โล่ง จัดให้มีขึ้นอย่างสนามหน้าจักรวรรดิ ของพระนครศรีอยุธยา ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง คนทั่วไปจึงเรียกว่า "ทุ่งพระเมรุ" ถ้าไม่มีงานพระเมรุ ก็ปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ราวหนองบึง ที่ชุมนุมของสัตว์เลื้อยคลาน เป็นอาหารของไพร่บ้านพลเมือง ที่ถูกเกณฑ์
บริเวณทุ่งพระเมรุนี้ เคยใช้เป็นที่ทำนาของหลวงด้วย ต่อรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้เรียกว่า "ท้องสนามหลวง" เนื้อที่เดิม มีอยู่เพียงครึ่งเดียว ของปัจจุบัน เห็นได้จากแนวถนนผ่ากลาง ที่ตรงกับแนวถนน ระหว่างกำแพงวัดมหาธาตุ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเขตวังหน้า แต่เดิม
เมื่อยกเลิกวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ขยายเนื้อที่ออกไปอีกครึีงหนึ่ง แล้วแต่งเป็นรูปไข่ อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ปลูกต้นมะขาม 2 แถว โดยรอบ เคยใช้เป็นสนามกอล์ฟ สนามแข่งว่าว สนามแข่งม้า และเป็นที่สวนสนาม และในสมัยหลังเคยใช้เป็นที่ติดตลาดนัดด้วย
สนามหลวง เคยมีชีวิตและวิญญาณทางการเมืองสมัยใหม่ เริ่มจากเป็นแหล่ง ไฮต์ปาร์ก แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นแหล่งชุมนุงหาเสียงทางการเมือง เป็นที่ชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 ท้ายสุด ยังเป็นศูนย์ความรุนแรงทางการเมือง เมื่อ 6 ตุลาคม 2519
สนามหลวง (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489 - 2539 กรมศิลปากร, 2539
ความเป็นมาของสนามหลวง สมัยแรก ๆ มีอยู่ในงานค้นคว้าศึกษา ของเทพชู ทับทอง จะขอคัดสรุปย่อมาลงไว้ดังนี้
ครั้งถึงรัชกาลที่ 3 ไทยกับญวนมีเรื่องวิทวาทกันเกี่ยวกับดินแดนเขมร พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้มีการทำนาที่ท้องสนามหลวง เพื่อที่จะให้ญวนเห็นว่า ไทยเป็นบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีเสบียงอาหารพร้อมที่จะทำสงครามกับญวนได้เต็มที่ เพราะแม้แต่ข้าง พระบรมมหาราชวัง ก็มีการทำนากัน
สมัยนั้น ท้องสนามหลวง เป็นที่ลุ่มกว่าสมัยนี้ จึงเหมาะแก่การทำนาดังกล่าว ดังนั้น พอถึงฤดูทำนาก็มีการวิดน้ำเข้านา ก่อคันดินทำเป็นคันนา ต่อฤดูแล้ง แผ่นดินแห้งแล้ว ถ้ามีการเมรุ จึงให้ลบคันดินนั้นเสีย
เรื่องการทำนาที่ท้องสนามหลวงนี้ จากบันทึกรับสั่ง ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนานุภาพ ที่ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ทรงบันทึกว่า "คงจะได้เค้ามาจากเรื่องมหานิบาต เรื่องมโหสถ ตอนข้าศึก มาล้อมพระนคร หวังจะให้อดตาย พระมโหสถเป็นบัณฑิต จึงเอาข้าวปลูกลงใน กระบอกไม้ไผ่ พอต้นข้าวเจริญเติบโตสูงขึ้น ก็ส่งไปอวดข้าศึก เพื่อที่จะให้ข้าศึก รู้ว่า ในเมืองนี้ไม่มีวันอดข้าดอก ข้าศึกเมื่อเห็นว่า ล้อมไว้ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เพราะราษฎรไม่อดอยาก จึงได้เลิกทัพกลับไป"
เมื่อมีการทำนาที่ท้องสนามหลวงดังกล่าว พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้สร้างพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรการทำนา ที่ท้องสนามหลวง ทางด้านทิศตะวันตก ใกล้พระบรมมหาราชวัง แต่พลับพลาดังกล่าว เมื่อแรกสร้าง จะเป็นไม้ หรือก่ออิฐถือปูน อย่างไรก็ไม่ปรากฏชัด
รัชกาลที่ 4 ก็ยังใช้สนามหลวง เป็นที่ทำนาหลวง เหมือนอย่างในรัชกาลที่ 3 ตามเดิม แต่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจที่ราษฎร เรียกสนามหลวงว่า "ทุ่งพระเมรุ" พระองค์ จึงโปรดฯ ให้มีประกาศเรียกว่า "ท้องสนามหลวง" ตามประกาศ ดังนี้
"ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแล เป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า "ทุ่งพระเมรุ" นั้น หาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า "ท้องสนามหลวง" ถ้าผู้ที่ยังมิได้รู้หมาย ประกาศนี้ หรือได้รู้แล้ว แต่หลงลืมไป ยังเรียกว่าทุ่งพระเมรุอยู่ตามเคย เรียกมา แต่ก่อน ถ้ากรมพระตำรวจ หรือกรมพระนครบาล ผู้หนึ่งผู้ใด จับกุมผู้ที่เรียกพลั้ง เรียกผิดนั้น มาปรับไหมเอาเงินทอง ก็ให้ผู้ต้องจับนั้น มาร้องฟ้องตามกระทรวง ถ้าชำระได้ความจริง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ไหมผู้จับทวีคูณ ให้แก่ผู้ต้องจับนั้น"
ในรัชกาลนี้ ปรากฏว่า พลับพลาทอดพระเนตรการทำนา ที่ท้องสนาหลวง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีหอพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปในพระราชพิธี พืชมงคล มีหอสำหรับดักลม มีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง และบนกำแพงแก้ว มีพลับพลาโถงสำหรับทอดพระเนตรในการทำนา ส่วนนอกกำแพงแกล้ว มียุ้งมีฉาง ไว้สำหรับใส่ข้าวหลวง ที่ได้จากการปลูกข้าวเรียงเป็นลำดับ
ความจริง ท้องสนามหลวงสมัยโน้น ก่อนรัชกาลที่ 5 ไม่กว้างขวางใหญ่โต เหมือนอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือทางด้านเหนือมีเพียงแค่ถนนพระจันทร์ (ถนนผ่ากางท้องสนามหลวงในเวลานี้) ส่วนเหนือขึ้นไปเป็นพระราชวังบวร ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้รื้อกำแพง ป้อมปราการของวังหน้าทางด้านทิศตะวันออก ที่ไม่สำคัญลง คงไว้แต่ที่สำคัญ ๆ ท้องสนามหลวง จึงได้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาอีกถึงเท่าตัว และโปรดฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบท้องสนามหลวง เพื่อให้เกิดความร่มเย็น เหมือนอย่างถนน ในต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตรมา
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดฯ ให้รื้อพลับพลา สำหรับทำพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ในท้องสนามหลวงด้วย ทั้งนี้ เพราะหมดความจำเป็น ที่จะทำนาเหมือนอย่างในรัชกาลก่อน ๆ เสียแล้ว
เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอง 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 (จุลศักราช 1244) ในรัชกาลที่ 5 ก็ได้ท้องสนามหลวง เป็นที่ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตรา อย่างใหญ่ มีทั้งกระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนเท้า ส่วนรอบท้องสนามหลวง ก็ปลูกโรงไทยทาน สำหรับเลี้ยงพระเลี้ยงไพร่ตลอดงาน นอกจากนั้น ยังจัดให้มี "นาเชนนัล เอกซฮิบิเซน" คือ การแสดงสินค้าที่ผลิตได้ในเมืองไทย ให้ราษฎรได้ชมเป็นเวลาถึง 3 เดือนอีกด้วย
หลังจากที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจาอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน กลับจากประพาสยุโรป ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) ก็ได้มีพวกข้าราชการ ฯลฯ มาเฝ้าถวายความจงรักภักดีเป็นการรับเสด็จ ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นหลายครั้ง คือพวกนักเรียนในกรุงเทพฯ เฝ้าเมื่อวันที่ 11 มกราคม ข้าราชการจีน และพ่อค้าจีนเฝ้า เมื่อวันที่ 19 มกราคม ข้าราชการในพระองค์เฝ้า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พวกสตรีสโมสรเฝ้า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ และสมาชิก เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จำพวกนอกพระบรมมหาราชวังเฝ้า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพนธ์ เป็นต้น
อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา 50 พรรษา พระองค์ก็ได้ทรงจัดให้มี พระราชกุศลนักขัตฤกษ์ เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา ณ บริเวณท้องสนามหลวง ด้วยส่วนหนึ่ง โดยพระองค์และมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พลับพลา ให้ประชาชนทั้งผู้ใหญ่และเด็ด เข้าเฝ้าถวายพระพร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน
งานใหญ่ ๆ ที่สนุกสนานมากซึ่งจัดที่ท้องสนามหลวง ในรัชกาลที่ 5 ยังมีอีก 2 งาน คือ การดัดแปลงท้องสนามหลวง ให้เป็นบ้านเมือง และเป็นป่า เพื่อเล่นโขนกลางแปลง รับเสด็จพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน กลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. 116 กับงานสงคราม บุปผาชาติแต่งแฟนซี และตกแต่งรถจักรยานสองล้อด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ แล้วขี่ข้างปากัน ด้วยกระดาษลูกปา และกระดาษสายรุ้ง ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดรับเสด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงศึกษาวิชาการทหารอยู่ ณ ประเทศรัสเซีย เสด็จกลับประเทศไทยชั่วคราว เมื่อ พ.ศ. 2442
อนึ่ง สนามหลวง ได้เป็นสนามเล่นว่าวมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 แล้วด้วย ดังจะเห็นได้จากในประกาศให้คนเล่นว่าวระวังสายป่าน ซึ่งประกาศ เมื่อวันจันทร์ เดือน 5 ขึ้น 2 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 ใจความว่า
"พระยาเพ็ชปาณี รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้นายอำเภอป่าวร้องประกาศข้าราชการ และราษฎร ที่เป็นนักเลงเล่นว่าว เอาว่าวขึ้น ก็ให้เล่นแต่ตามท้องสนามหลวง แถบที่ว่างเปล่า ไม่ห้ามปรามดอก ให้เล่นเถิด แต่อย่าให้สายป่านว่าวไปถูกเกี่ยวข้องพระมหาปราสาท พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ ช่อฟ้าใบระกา พระมหามรเทียร พระที่นั่ง ในพระบรมมหาราชวัง พระบวรมหาราชวัง แลช่อฟ้าใบระกา วัดวาอาราม ให้หักพังได้ ถ้าผู้ใดชักว่าวไม่ระวัง ให้สายป่านพาดไปถูกต้องของหลวง แลวัดวาอาราม ให้หักพังยับเยินสืบไป จะเอาตัวเจ้าของว่าวเป็นโทษตามรับสั่ง"
ติดตามตอนที่ 2
ข้อมูลจาก
http://allknowledges.tripod.com