กระทรวงเกษตรฯ สรุปการพยากรณ์ผลผลิตข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว นาปี 2560/61 จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจเนื้อที่เพาะปลูกข้าวเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการพยากรณ์ผลผลิตข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวนาปี 2560/61 รอบที่ 1 ว่า สถานการณ์ผลผลิตข้าวในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลผลิตข้าวออกมาปริมาณมาก ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบเนื้อที่ปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิตต่อไร่ และผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประชุมเพื่อสรุปผลการสำรวจและประมาณการณ์ตัวเลขให้เป็นข้อมูลที่ตรงกันอย่างไรก็ตามจากกระแสข่าวของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่ระบุว่า ข้าวหอมมะลิปีนี้จะมีมากถึง 9 ล้านตันนั้น เป็นเพียงตัวเลขจากการประเมินล่วงหน้า ยังไม่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจพบว่าตัวเลขแตกต่างกันมาก
ทั้งนี้จากการประเมินระหว่างเป้าหมายข้าวครบวงจร กับคู่มือพยากรณ์ของข้าวหอมมะลิ พบว่า เป้าหมายข้าวครบวงจร 8.07 ล้านตัน ส่วน การพยากรณ์ในเดือน พ.ย. 7.16 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายข้าวครบวงจร9 แสนตัน (11.28%) เนื่องจากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้มีปริมาณข้าวลดลง สำหรับข้าวเหนียว พบว่า เป้าหมายข้าวครบวงจร 5.87 ล้านตัน ส่วน การพยากรณ์ในเดือน พ.ย. 8.73 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายข้าวครบวงจร1.4 แสนตัน (2.39%)นอกจากนี้ข้าวหอมจังหวัด ข้าวหอมปทุม และข้าวจ้าว อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ตรงกันกับทุกหน่วยงานที่ลงตรวจสอบคาดว่าจะทำให้ราคาข้าวดีขึ้นที่ผ่านมาเป็นตัวเลขที่ได้จากการประเมินเท่านั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคา
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการประเมินได้มีการลงพื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ เตรียมการ โดยขอความร่วมมือจากซิงเกิ้ลคอมมานด์ทุกจังหวัด ประสานหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกันลงพื้นที่ประเมินข้าว 20 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสศก. ได้ประชุมเตรียมความพร้อมกับกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ในการกำหนดแนวทางและประมาณการพื้นที่ข้อมูลตัวเลขในเบื้องต้น ซึ่งข้อมูลพยากรณ์ของสศก. และข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถแบ่งเนื้อที่เก็บเกี่ยวได้เป็น 2 กรณี คือ 1) ความแตกต่าง น้อยกว่า ร้อยละ 5 จำนวน 12 จังหวัด คือ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ หนองคาย กาฬสินธุ์(ข้าวหอมมะลิจากเดิมพยากรณ์ไว้เดือน ก.ย. 19,964,360ไร่ ล่าสุด 20,172,133 ไร่ / ข้าวเหนียวจากเดิมพยากรณ์ไว้เดือน ก.ย. 12,414,992 ไร่ ล่าสุด 11,975,872 ไร่)และ 2) ความแตกต่าง มากกว่าเท่ากับ ร้อยละ 5จำนวน 8 จังหวัดคือ หนองบัวลำภูบุรีรัมย์บึงกาฬ สุรินทร์ ขอนแก่นนครราชสีมาอำนาจเจริญ เลย
จากการตรวจสอบผลผลิตต่อไร่ ข้าวนาปี ปี 2560/61 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการเก็บข้อมูลทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน และพื้นที่นาลุ่ม นาดอน โดยทั้งสองพื้นที่มีพื้นที่ผลผลิตแตกต่างกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดในการดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งในเรื่องของรายการที่จัดเก็บข้อมูล รวมถึงขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ฤดูนาปี ปี 2560/61 โดยข้าวหอมมะลิมีผลการพยากรณ์เนื้อที่เก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. รวมทั้งสิ้น 20.8 ล้านไร่ ผลผลิต 7.15 ล้านตันแบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา)สำหรับผลการพยากรณ์ข้าวเหนียวทั้งประเทศมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. รวมทั้งสิ้น 14.68 ล้านไร่ ผลผลิต รวมทั้งสิ้น 5.72 ล้านตัน
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพยากรณ์ของ สศก. พบว่ามีตัวเลขใกล้เคียงกับแผนข้าวครบวงจร แต่เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาน้ำท่วม จึงทำให้มีผลผลิตลดลงมาจากที่พยากรณ์ไว้
กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871
[email protected]
www.moac.go.th
www.facebook.com/kasetthai