เนื่องจากการเล่นว่าวที่ท้องสนามหลวง ไม่ปลอดภัยพอ เพราะเล่น ดีไม่ดี สายป่านว่าว เกิดไปต้องพระมหาปราสาทราชวัง ทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระบวรราชวังเข้า ก็จะต้องเป็นโทษดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ นักเลงว่าว ชาวบ้าน จึงได้พากันมาเล่นที่สนามฆ่าคน คือบริเวณที่เป็นห้าแยกพลับพลาไชย ในปัจจุบัน เป็นส่วนใหญ่ นอกจากเจ้านาย และข้าราชการเท่านั้น ที่ยังคงทรงเล่นและเ่นอยู่ ที่ท้องสนามหลวงตามเดิม
ในปลายรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่า กีฬาว่าว ได้เป็นที่นิยมมากขึ้น ในหมู่เจ้านาย และข้าราชการ ตลอดจนพ่อค้าประชาชน ถึงขนาดมีการแข่งขัน ชิงถ้วยทองคำ พระราชทาน
นอกจากกีฬาว่าวแล้ว ในอดีตสนามหลวง ยังเคยเป็นสนามแข่งม้า แะสนามกอล์ฟ มาแล้วเช่นกัน
สาเหตุที่จะมีการแข่งขันม้า ก็สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปดังกล่าว ข้าราชการทุกระทรวงทบวงกรม ต่างก็พร้อมใจกันจัดให้มีงานฉลองน้อมเกล้าฯ ถวายแสดงความจงรักภักดีต่าง ๆ ณ วโรกาสนี้ ชาวสโมสรน้ำเค็ม (คือสโมสร เจ้านาย ข้าราชการ และผู้ที่เคยไปศึกษา หรือเคยเดินทางไปต่างประเทศมาแล้ว) มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขันพิทยลาภพฤฒิธาดา ทรงเป็นประธาน เจ้าหมื่น สรรเพ็ชภักดี บุตรชายคนใหญ่ ของเจ้าพระยามหินทร์ เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง บุนนาค) นักเรียนอังกฤษ บุตรชายคนใหญ่ของเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ หลวงจำนงค์ (พระยาพิพัฒน์โกษา) และเจ้าคุณประดิพัทธภูบาล เมื่อตอนเป็นหลวงสุนทรโกษา ประชุมลงความเห็นว่า ให้จัดการแข่งม้าถวายทอดพระเนตร โดยใช้สนามหลวง เป็นสนามแข่งม้าชั่วคราว
ส่วนการเล่นกอล์ฟนั้น ก็เริ่มต้น ที่ท้องสนามหลวง เหมือนกัน เพราะสมัยนั้น มีสนามขนาดใหญ่ อยู่ใกล้กัน เพียง 3 สนามเท่านั้น คือ สนามหลวง สนามสถิตย์ยุติธรรม และสนามไชย เจ้าพระยามหินทร์ เล่าว่า พวกข้าราชการ ที่เป็นชาวต่างประเทศ ที่ชอบเล่นกอล์ฟ ได้อาศัยสนามทั้ง 3 นี้ รวมกันทำเป็น สนามกอล์ฟเล่ได้ 9 หลุมพอดี
ในรัชกาลที่ 6 เมื่อพระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ก็ได้เสด็จออกประทับ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดี และในรัชกาลนี้ ได้มีพระราชพิธีสำคัญ ๆ อีกหลายงาน ที่ได้จัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวงเช่นกัน
ส่วนในเรื่องการพระเมรุนั้น สนามหลวง ได้ใช้เป็นที่ ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์มาทุกรัชกาล นอกจากรัชกาลที่ 7 เท่านั้น ที่ไม่ได้ทำการถวายพระเพลิง ณ ท้องสนามหลวง เพราะพระองค์ เสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่ได้สละราชสัมบัติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง การปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475
สำหรับเรื่องการพระเมรุนี้ มีเรื่องที่สมควรจะกล่าว ซึ่งค้นหลักฐานมาได้จากเรื่องประเพณี เกี่ยวกับโสกันต์ และพระเมรุท้องสนามหลวง ในหนังสือ ประชุมพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 4 ฯลฯ อยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก เป็นเรื่องระหว่างพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเรื่องถวายพระเพลิงศพ กรมสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 จากข้อความในพระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อปีกุน พ.ศ. 2406 กล่าวว่า
"เมื่อการศพแม่เพอย ข้าพเจ้าไปปลูกเมรุรุกขึ้นไป ใกล้วังน่านัก จนไม่มีท้องสนามพลับพลาพระบวรราชวัง ไม่มีที่ตั้งพลับพลา ไม่มีที่ประทับ จึงต้องบอกประชวรเสีย ทั้งงาน เป็นแต่ให้ลูกเต้าท่าน แลข้าราชการ มาช่วย การที่เป็นดังนี้ เขายกโทษว่า ข้าพเจ้าไม่คิดอ่าน จัดการให้เป็นพระเกียรติยศสมควร ท่านจึงเสด็จไม่ได้..."
เรื่องนี้ พระองค์ทรงให้เหตุผลว่า
"...เมื่อการศพแม่โสมนัศ (สมเด็จพระนางโสมนัศป และแม่เพอย ทั้งสองครั้งนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า แม่โสมนัศ แลแม่เพอย เปนแต่เจ้าเล็กน้อย แปลงมาเปนพระองค์เจ้า แลเมื่อตายลงได้ทำศพที่ท้องสนามหลวง เพราะเปนเมียข้าพเจ้า ๆเปนเจ้าผู้เดียวทำ การงานมากไป เพราะถูกฝรั่งอังกฤษยกย่องว่าเป็นกวิน ๆ แม่โสมนัศ แม่เพอยเปนผู้หญิงสาวมีผัว คือ ข้าพเจ้า เปนเจ้าภาพผู้เดียวจึงควร ไม่เปนอย่างพระบรมศพ พระเจ้าอยู่หัวสามพระองค์ที่ล่วงแล้ว ซึ่งเปนเจ้าใหญ่ นายโต ที่นับถือกลางวังหลวงวังน่าด้วยกัน การพระศพเช่นนั้น ควรมีพลับพลา มีสนามมวย สนามม้า สองด้านสองน่า ก็การศพแม่โสมนัศ แม่เพอยนั้น ถึงทำมาก ก็เปนการของข้าพเจ้าฝ่ายเดียวจึงควรจะงาม คิดดูเถิด"
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องลือกันว่า ในวันงานพระเมรุ จะมีการชิงราชสมบัติ ทำนองสมัยนี้ที่ลือกันว่า จะมีการปฏิวัติรัฐประหารนั้นแหละ ดังจะทราบได้ จากพระราชนิพนธ์เรื่องเดียวกันนี้ว่า
"อนึ่ง เพราะปากราษฎร ฤๅเล่ากันแต่ก่อนการพระศพ การศพที่ท้องสนามหลวงทุก ๆ งาน ตังแต่แผ่นดิน ก่อน ๆ มา จนแผ่นดินปัจจุบันนี้ว่า วันชักเขาจะเอา วันเผาจะเล่นนั้นได้ช่วงได้โอกาส ก็การที่ว่านี้ เป็นแต่ว่ากันนั้นแล แต่รำพึงไปถึงการหลัง ๆ มา การศพ ที่ท้องสนามหลวง ก็เคยมีมาหลายครั้ง นับครั้งดู ก็เห็นประจักษ์ว่า การที่มีแต่สนามเดียวนั้น มากกว่าสองสนาม
แลการแต่โบราณกรุงเก่าสืบมา ในการศพทุกครั้ง คำที่ฤๅกันว่า วันชักเขาจะเอา วันเผาเขาจะเล่นดังนี้ มีแทบทุกงาน แต่เมื่องานมีขึ้น ก็ไม่มีใครเอาใครเล่น สักงานหนึ่งเลย ครั้งแผ่นดินเจ้าตากสิน ก็มีการศพ หลายครั้ง ที่ท้องนาทเลตมบ้าง ที่วัดบางยี่เรือบ้าง เจ้าตากสิน ก็มีแต่ตัว ไม่ได้มีสองสนามเลย เจ้าตากนั้น ขุนนางและราษฎร ก็ชังมากกว่าข้าพเจ้าสัก 100 เท่า ถึงกระนั้น ในการศพเหล่านั้น วันชักก็ไม่มีใครเอา วันเผาก็ไม่มีใครเล่น พระยาสวรรค์มาเอามาเล่น เจ้าตาก เมื่อเวลาตะแก่นอนอยู่ในวัง ไม่มีการศพเมรุอะไรไม่ใช่ฤๅฯ.."
ที่มา : กรุงเทพฯ มาจากไหน โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ
ข้อมูลจาก
http://allknowledges.tripod.com