สิ่งที่ช่วยสะท้อนความทรงจำเหล่านั้นของเราให้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ "ภาพถ่าย" ถึงแม้จะเป็นเพียงชั่วขณะหรือจังหวะหนึ่งในชีวิต เหมือนกับภาพถ่าย “เพียงพอก็พอเพียง” ผลงานของ "นายคันธ์ชิต สิทธิผล" ว่าที่บัณฑิตสาขาศิลปภาพถ่าย คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี 2554-2555 ภายใต้แนวคิด “เพื่อประโยชน์สุข” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
เจ้าของรางวัลชนะเลิศภาพถ่าย “เพียงพอก็พอเพียง” กล่าวว่า โครงการประกวดภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ถือเป็นโครงการประกวดภาพถ่ายที่ใหญ่มากๆ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยภาพถ่ายด้วยพระองค์เอง จึงตัดสินใจส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวด สำหรับหัวข้อในการประกวดครั้งนี้ คือ “เพื่อประโยชน์สุข” ก็เลยนึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ประชาชนชาวไทย ประกอบกับที่ตัวเองเป็นคนชอบถ่ายภาพแนวสารคดี ชอบถ่ายรูปเกี่ยวกับชีวิตคน เพื่อเก็บวิถีชีวิต เรื่องราวต่างๆ ที่คาดว่าในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะเลือนหายจากสังคมไทยไปตามกาลเวลา จึงได้เป็นแนวคิดหลักของผลงานภาพถ่าย “เพียงพอก็พอเพียง”
ผลงานภาพถ่าย “เพียงพอก็พอเพียง” เป็นภาพที่ต้องการสะท้อนเรื่องราวการใช้ชีวิตของชาวนาไทย ที่ยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม โดยไม่มีการใช้เครื่องจักรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำนา ยังใช้แรงคนในหมู่บ้านช่วยกัน มีการถ้อยทีพึ่งพาอาศัยร่วมกันลงแขก เกี่ยวข้าว ฟาดข้าว ซึ่งเป็นสังคมที่อาจะหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน และสามารถตอบโจทย์คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง และคำว่า ประโยชน์สุข ได้ดีเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งนาขั้นบันไดในปัจจุบันเริ่มมีน้อยลง จนอาจจะถึงขั้นไม่มีต่อไปในอนาคต นั่นเป็นสิ่งที่คนไทยเราน่าจะอนุรักษ์เรื่องราวดีๆ ของความมีน้ำใจ รวมถึงการทำนาแบบขั้นบันไดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น สำหรับเทคนิคที่ใช้ในการถ่ายภาพ คือ เทคนิคการจัดองค์ประกอบแบบจุดตัดเก้าช่องเหมือนตอนที่ได้เรียนมา ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของจังหวะและเวลา ซึ่งภาพบางภาพอาจจะเซ็ตเพื่อการถ่าย แต่ภาพนี้เป็นภาพที่ชาวบ้านกำลังช่วยกันฟาดข้าวอยู่จริงๆ แล้วจังหวะก็พอดีกับช่วงเวลาที่กดชัตเตอร์ถ่ายภาพ จึงทำให้ได้ภาพที่ได้อารมณ์และมีบรรยากาศจริง
"หากนับตามการตัดสินของคณะกรรมการ จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดถึง 1,169 ภาพ ภาพถ่ายของผมอยู่เป็นลำดับที่ 13 ซึ่งจะมีเพียง 12 ภาพเท่านั้น ที่ได้รับการทูลเกล้าฯ นำเสนอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย แต่มีภาพของผู้เข้าประกวดท่านหนึ่งที่ผิดกติกา ภาพของผมจึงได้รับเลือกทูลเกล้าฯ นำเสนอแทน ต้องบอกว่ารู้สึกตื้นตันใจมาก คือผมเป็นแค่คนไทยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แค่ได้ทราบว่า พระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรผลงานภาพถ่ายของผม ผมก็รู้สึกมีความสุขมากๆ ถึงจะไม่ได้รับการคัดเลือกก็ปลื้มใจมากแล้ว แต่พอทราบว่าพระองค์ท่านทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเลือกภาพที่เราถ่าย นั่นยิ่งทำให้รู้สึกตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับตนเองและครอบครัว เพราะถือได้ว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตการถ่ายภาพ"
นอกจากนี้ คันธ์ชิต ยังเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพว่า เริ่มถ่ายภาพมาประมาณ 1-2 ปี ก่อนเข้าเรียนที่สาขาศิลปภาพถ่าย มหาวิทยาลัยรังสิต พอได้เข้ามาเรียนก็เริ่มจริงจังกับการถ่ายภาพมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็ทำให้ยิ่งมีความสุข และยังได้ส่งภาพเข้าไปประกวดตามโครงการต่างๆ พอส่งประกวดแล้ว หากได้รับรางวัลก็จะนำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอดในการถ่ายภาพ อีกสิ่งหนึ่งของการส่งภาพประกวดคือ เราจะได้เรียนรู้ฝีมือของตัวเองควบคู่ไปด้วย ทำให้เราไม่หยุดอยู่กับที่ และสิ่งที่ได้รับกลับมาคือประสบการณ์ที่มีค่าจากคอมเม้นต์ต่างๆ ของกรรมการ เพื่อมาดูว่าสิ่งที่เรายังขาดคืออะไร ต้องเพิ่มเติมจุดใด เพื่อจะได้พัฒนาและปรับปรุงในแต่ละย่างก้าวของเราต่อไปสู่อนาคต.
ภาพประกอบจาก : บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์
www.tharath.co.th โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
29 ตุลาคม 2555, 05:30 น.