สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจง มาตรการห้ามนั่งท้ายรถกระบะในช่วงเทศกาลปีใหม่
วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2560 พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจตรี มนตรี ยิ้มแย้ม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล/รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงมาตรการห้ามนั่งท้ายรถกระบะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตามที่ แฟนเพจ ‘Drama-Addict’ มีการเผยแพร่ข่าวจากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งมีการรายงานข่าวกรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกวดขันวินัยทางจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเผยว่าจะมีนโยบายการ
ห้ามนั่งท้ายรถกระบะในช่วงเทศกาลปีใหม่ มาเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญด้วย
ข้อสังเกต
1. จากกรณีในข้างต้นทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวดังกล่าว มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยพบว่าส่วนหนึ่งแสดงความไม่พึงพอใจต่อมาตรการดังกล่าว เพราะเห็นว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจำนวนมากจะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมทั้งเดินทางไปท่องเที่ยว และรถกระบะเป็นยานพาหนะสำคัญที่ใช้ในการเดินทาง โดยตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่การจราจรติดขัด ส่งผลให้การสัญจรบนท้องถนนมีความแออัด ไม่สามารถทำความเร็วได้มาก การนั่งท้ายรถกระบะจึงไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้ยังมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย โดยมีเป้าหมายเพื่อบังคับให้มีการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะเท่านั้น
2. จากกรณีนี้เห็นสมควรว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจพิจารณาเร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจต่อสังคม ให้ทราบถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของมาตรการ โดยอธิบายถึงรายละเอียด และความจำเป็นในการกวดขันวินัยจราจร รวมถึงความเข้มงวดในการจับ ปรับ ว่ามีขั้นตอนเช่นไร เนื่องจากในอดีต ประเด็นดังกล่าวเคยเป็นประเด็นที่ถูกสังคมและสื่อโซเชียล มีเดีย นำมาเป็นประเด็นวิจารณ์นโยบายภาครัฐในเชิงลบจนขยายเป็นวงกว้าง
สตช. ขอชี้แจงว่า จากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 6 ปี ในช่วงปี 2545-2550 เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ
พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุนั้น เกิดจากรถจักรยานยนต์สูงสุดเป็นอันดับ 1 รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นอันดับ 2 และอุบัติเหตุเกิดจากรถยนต์กระบะเป็นอันดับ 3 ถือเป็น 18% ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า แต่กลับมีจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมากกว่า
อีกทั้งการวิเคราะห์ยังเปิดเผยว่า การที่มีผู้โดยสารนั่งในกระบะหลังนั้น หากรถเกิดอาการเสียหลักหรือควบคุมยาก จะทำให้มีโอกาสพลิกคว่ำมากกว่าเดิมถึง 2 เท่าจากปกติ ดังนั้น
จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ของ ปี 2559 อุบัติเหตุ 3379 ครั้ง เสียชีวิต 380 ราย บาดเจ็บ 3505 ราย ปี 2560 อุบัติเหตุ 3919 ครั้ง เสียชีวิต 478 ราย บาดเจ็บ 4128 ราย โดยสาเหตุอันดับ 1) คือเมาแล้วขับ อันดับ 2) คือการใช้ความเร็วเกินกำหนด
ดังนั้นแล้ว จะสังเกตได้ว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลมีทั้งเมาแล้วขับ และการใช้ความเร็วเกินกำหนด ซึ่งสาเหตุอันดับ1 คือการเมาแล้วขับ ดังนั้นการเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะขับช้าหรือเร็ว ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ การโดยสารในกระบะหลัง ซึ่งไม่มีที่นั่งและเข็มขัดนิรภัย จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต หากเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งการโดยสารรถในกระบะหลังเป็นความผิดตามคำสั่ง คสช.ที่ 14/60 และ 15/60 ซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตรการนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ที่ผ่านมา
เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจราจรทางบก และเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการโดยสารรถ หรือการใช้รถใช้ถนนให้เพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากข้อมูลสถิติขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจำนวนอุบัติเหตุสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 2 ของโลก ในปี พ.ศ. 2558 และ 2559 และมีแนวโน้มจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในอนาคต
อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวคือ คำสั่ง คสช.ที่ 14/60 และ 15/60 รวมถึง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ที่จะต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งตัวเลขสถิติแสดงให้เห็นถึงยอดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นเป็นพิเศษ จึงนับว่าเป็นความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในการเดินทางไปท่องเที่ยว หรือกลับฉลองเทศกาลปีใหม่กับครอบครัวอันเป็นที่รักได้อย่างปลอดภัย
---------------------------