คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
● เห็นชอบในหลักการของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมอบหมาย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแต่ละโครงการ
● เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
(คนส.) คณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.) คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด (คอจ.) หรือ “ทีมหมอประชารัฐสุขใจ” รวมทั้งเห็นชอบในหลักการของการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ (ทีม ปรจ.)
● เห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง
● เห็นชอบในหลักการของมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้
เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว กค. โดยกรมสรรพากรจะได้เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งประสาน ธนาคารกรุงไทย เพื่อดำเนินการรับชำระค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป
● เห็นชอบให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ดำเนินมาตรการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 6 มาตรการ 18 โครงการ และให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account PSA)
อนุมัติงบประมาณเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 35,679,090,791 บาท ซึ่งประกอบด้วยรายการ ดังนี้
- งบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการ
และคณะทำงาน (ตามข้อ 2) เช่น ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น และค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราวของ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อปฏิบัติงานในโครงการ เป็นวงเงินไม่เกิน 2,999,167,723 บาท
- งบประมาณสำหรับโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เป็นวงเงินไม่เกิน
6,774,409,868 บาท และงบประมาณสำหรับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ในการดำเนินงานเป็นวงเงินไม่เกิน 12,033,000,000 บาท รวมเป็นวงเงินไม่เกิน 18,807,409,868 บาท
-งบประมาณสำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อ
เกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เป็นวงเงินไม่เกิน 13,872,513,200 บาท โดยจะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ งบประมาณให้แต่ละหน่วยงานทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรร
งบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า ได้เสนอมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็น
มาตรการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 2 แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
โครงสร้างการดำเนินงาน แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1) คนส. มี
นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2) คอต. มีปลัด กค. เป็นประธาน 3) คอจ. จำนวน 77 ชุด กรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีปลัด กทม. เป็นประธาน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 4) ทีม ปรจ. จำนวน 878 ชุด กรณี กทม. มีผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ มีนายอำเภอ เป็นประธาน 5) ผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer : AO) ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. หรือธนาคารออมสิน
โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็น
การบูรณาการโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และ พณ. เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีความครบถ้วนสมบูรณ์โดยสร้างโอกาสในการพัฒนาใน 4 มิติ ประกอบด้วย
มิติที่ 1 การมีงานทำ จำนวน 5 โครงการ
มติที่ 2 การฝึกอบรมและการศึกษา 10 โครงการ
มิติที่ 3 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ จำนวน 11 โครงการ
และมิติที่ 4 การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 34 โครงการ
2.1 มีโครงการที่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 6 โครงการ ดังนี้
1) โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (กษ.) 2) โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร (กษ.) 3) โครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิต (รง.) 4) โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) (ธ.ก.ส.) 5) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. 6) โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 (ธ.ก.ส.)
2.2 มีโครงการของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่ขอเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) รวม 6 มาตรการ 18 โครงการ ดังนี้
1) มาตรการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดย ธนาคารออมสิน รวม 3 มาตรการ 10 โครงการ ดังนี้ (1) มาตรการที่ 1 สินเชื่อ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สินเชื่อ GSB Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ และสินเชื่อ Street Food (2) มาตรการที่ 2 เงินฝาก จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษสวัสดิการแห่งรัฐ (3) มาตรการที่ 3 การพัฒนา จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ “มหาวิทยาลัยประชาชน” คลินิกสุขภาพทางการเงินเคลื่อนที่ การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ร่วมกับ พณ. และบูรณาการแผนพัฒนากับหน่วยงานภาคีนการพัฒนาอาชีพ
2) มาตรการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดย ธ.ก.ส. รวม 3 มาตรการ 8 โครงการ ดังนี้
-
มาตรการที่ 1 พัฒนาตนเอง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ ให้ความรู้แก่เกษตรกรลูกค้าผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 และโครงการเงินฝากกองทุนทวีสุข
-
มาตรการที่ 2 พัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) และโครงการ สินเชื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
-
มาตรการที่ 3 ลดภาระหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ระยะที่ 3 โครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ และโครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2
3.
มาตรการส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง
ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองในแบบประเมินและเมนูการพัฒนารายบุคคล จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่ พณ. กำหนด โดยในการดำเนินมาตรการฯ จะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงินไม่เกิน 13,872,513,200 บาท ทั้งนี้ จะเริ่มได้รับในเดือนถัดไปหลังจากเดือนที่แสดงความประสงค์จนถึงเดือนธันวาคม 2561
4.
มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (กรมสรรพากร) เพื่อ
จูงใจให้นายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือพิจารณาจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นกรณีพิเศษโดยให้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่าย ดังนี้
4.1 รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตร
สวัสดิการแห่งรัฐ
4.2 รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการ
จ่ายค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่ไม่เกินร้อยละสิบชองจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562