รมว.แรงงาน สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย แรงงานต่างด้าวที่ทำอาชีพสงวนสำหรับคนไทยและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 - 100,000 บาท และส่งกลับ
วันนี้ (19 ม.ค. 61)
นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ว่าจากกรณีที่ปัจจุบันสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม อินเดีย จีน และลาว ซึ่งจะเข้ามาประกอบอาชีพในลักษณะเป็นเจ้าของร้านขายอาหาร เจ้าของร้านในตลาดสด เจ้าของร้านในตลาดนัด โดยการจ้างคนไทยให้ทำสัญญาการเช่าหรือการจ้างเป็นนายจ้างและแรงงานต่างด้าว จะดำเนินกิจการเองทั้งหมด ตั้งแต่ซื้อและจำหน่าย โดยเริ่มจากการเป็นลูกจ้างเมื่อมีทุนจะดำเนินการเซ้งร้าน เซ้งแผงขายของ แต่ยังคงถือใบอนุญาตทำงานโดยมีคนไทยสมยอม รับเป็นนายจ้างให้ และพบว่าแรงงานต่างด้าวสัญชาติจีนและเวียดนามส่วนใหญ่ลักลอบทำงานในร้านอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยว การเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ และการให้บริการบีบนวดตามห้องน้ำ แรงงานต่างด้าวสัญชาติอินเดียส่วนใหญ่ลักลอบทำงานประเภทเร่ขายของทั่วไป ขายผลไม้ ขายถั่ว ขายโรตี ซึ่งการลักลอบทำงานดังกล่าวเป็นงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 นั้น
ในเรื่องนี้
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ กรมการจัดหางาน ร่วมบูรณาการกับกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบนายจ้างสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าว โดยลงพื้นที่ตรวจสอบในกิจการที่มีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่มาทำอาชีพสงวนสำหรับคนไทยและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 8 มีอัตราโทษตาม ม.101 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 - 100,000 บาท แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และได้ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย จำนวน 1,609 คน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 738 คน และ ภูมิภาค 871 คน โดยดำเนินคดีกับแรงงานสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 600 คน รองลงมาคือ สัญชาติกัมพูชา 430 คน สัญชาติอื่นๆ อีก 344 คน และสัญชาติลาว 235 คน ส่วนใหญ่กระทำความผิดจากการประกอบอาชีพค้าขาย หาบเร่ แผงลอย ทั้งนี้ งานที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้ 2 ประเภท คือ งานกรรมกร และงานบ้าน ส่วนงานขายของหน้าร้านหรือการเป็นเจ้าของกิจการยังคงเป็นอาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ ตามที่กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง การกำหนดอาชีพห้ามสำหรับคนต่างด้าว และยังไม่ได้ข้อสรุปว่า งานขายของหน้าร้านจะเป็นงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้หรือไม่
หากพบแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2 หรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หมายเลขโทรศัพท์ 0 2354 1386 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ 10 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือหากพบคนไทยที่เป็นนอมินีให้แรงงานต่างด้าวเปิดกิจการที่เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลข 1570 Call Center กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ / ปริยรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ภาพและข่าว
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมการจัดหางาน ข้อมูล / 19 มกราคม 2561