ช่างสิบหมู่
เป็นชื่อของกล่มงานที่รวบรวมช่างต่างๆเอาไว้อยู่ด้วยกัน ๑๐ กลุ่ม หรือหมู่ช่างดังกล่าวเป็นช่างฝีมือของไทยที่มีลักษณะหน้าที่การทำงานต่างกัน ช่างสิบหมู่นั้นเข้าใจว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงได้มการจัดช่างเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ในสมัยก่อนนี้จะต้องเป็นทั้งผู้คิดและผู้ปฏิบัติด้วยอยู่ในคนคนเดียวกันจึงต้องเป็นคนที่มีพรสวรรค์และจินตนาการที่ลึกซึ้ง ตลอดจนฝีมือที่ละเอียดประณีตบรรจงและที่สำคัญจะต้องมีใจรักในงานเป็นอย่างยิ่งช่างทั้ง 10 หมู่นี้จะเป็นช่างหลวงและทำงานสนองพระราชประสงค์ หรือพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน ช่าง 10 หมู่ประกอบด้วย
1. หมู่ช่างเขียน ซึ่งเป็นงานแม่บทในกระบวนช่างทั้งหลาย เพราะไม่ว่าจะเป็นงานช่างใดก็ตามจะต้องอาศัยการเขียน การวาดเป็นแบบก่อนเสมอ ช่างในหมู่นี้จึงประกอบด้วย ช่างเขียน ช่างปิดทอง ช่างลงรัก ช่างแกะ ช่างปั้น ช่างหุ่น และอื่น ๆ
2. หมู่ช่างแกะ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าเป็นช่างแกะสลัก หมู่ของช่างแกะจะประกอบด้วยช่างแกะตรา ช่างแกะลาย ช่างแกะพระ ช่างแกะภาพ ทั้งยังหมายรวมไปถึงช่างเงินช่างทองและช่างเพชรพลอยอีกด้วย
3. หมู่ช่างหุ่น " หุ่น " ในที่นี้หมายถึง "รูปร่าง" ช่างหุ่นจึงเป็นช่างที่ทำสร้างให้เป็นตัวหรือเป็นรูปร่างขึ้นมา หมู่ของช่างหุ่นจึงประกอบไปด้วยช่างไม้ ช่างไม้สูง ช่างเลื่อย ช่างบากไม้ ช่างทำหุ่นรูปคน / รูปสัตว์ / หัวโขน และช่างเขียน
4. หมู่ช่างปั้น ช่างปั้นจะมีความสัมพันธ์กับช่างปูน ช่างหล่อเป็นอย่างมาก และผลงานช่างปั้นก็มักจะออกมาในรูปของผลงานของช่างทั้ง 2 หมู่ ช่างปั้นจึงประกอบไปด้วยช่างขี้ผึ้ง ช่างปูน ช่างขึ้นรูป และช่างหุ่น
5. หมู่ช่างปูน ลักษณะงานของช่างปูนจะมีทั้งงานซ่อมและงานสร้าง ช่างปูนจะแบ่งออกเป็นพวกปูนก่อ พวกปูนฉาบ และพวกปูนปั้น ซึ่งพวกหลังสุดคือพวกปูนปั้นนี้จะต้องมีความประณีต เป็นพิเศษกับจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ จึงจะสามารถผลิตผลงานออกมางดงามและคงมน ช่างที่รวมอยู่ในหมู่ช่างปูนนี้จะประกอบไปด้วยช่างปั้น ช่างปูนก่อ ช่างปูนฉาบ และช่างปูนปั้น
6. หมู่ช่างรัก ช่างรักนี้มีมานานตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัยแล้ว งานศิลปะไทยหลายแขนงที่จะต้องมีการลงรักปิดทองเป็นขั้นสุดท้าย ช่างที่อยู่ในหมู่ของช่างรักประกอบด้วย ช่างลงรัก ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจกช่างมุก และช่างเครื่องเขิน
7. หมู่ช่างบุ "บุ" หมายถึง การตีแผ่ให้เป็นแผ่นแบน ๆ ซึ่งอาจจะแบนออกมาเป็นรูปต่าง ๆ หรือเป็นแผ่นแบนธรรมดาก็ได้ งานของช่างจึงเกี่ยวพันโดยตรงกันกับงานโลหะทุกชนิด (เงิน, นาก, ทองเหลือง, ทองแดง และทองคำ) จนบางครั้งเรียกกันว่า เป็นช่างโลหะไปเลย
8. หมู่ช่างกลึง งานของช่างในหมู่ช่างกลึงนี้ นอกจากจะมีการกลึงให้กลมและผิวเรียบแล้ว ยังรวมไปถึงการประดับตกแต่งสิ่งที่กลึงแล้วอีกด้วยเช่น การปิดทอง การประดับกระจก การแกะสลัก ช่างในหมู่ของช่างกลึงจึงประกอบไปด้วย ช่างไม้ ช่างเขียน ช่างแกะงา(ช้าง) ช่างทำกลอง ช่างลงรัก ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจก
9. หมู่ช่างสลัก งานของช่างสลักนี้ จะเน้นไปในเรื่องของการสลักเสลาให้สวยงาม จึงต้องมีความประณีตบรรจงเป็นพิเศษ วัสดุที่ใช้ในการสลักอาจเป็นของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ และของอ่อนที่เรียกกันว่า เครื่องสด เช่น หยวกกล้วย ช่างของหมู่ช่างสลัก ประกอบด้วย ช่างฉลุ ช่างกระดาษ ช่างหยวก ช่างเครื่องสด
10. หมู่ช่างหล่อ ด้วยประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ งานหล่อของไทยจึงเน้นหนักไปในการหล่อพระพุทธรูปเป็นส่วนใหญ่ หมู่ของช่างหล่อ ประกอบด้วย ช่างหุ่นดิน ช่างขี้ผึ้ง ช่างผสมโลหะ และช่างหล่อโลหะ
ข้อมูลจาก
http://www.hosting.cmru.ac.th