กระทรวงการคลังชี้แจงข้อวิจารณ์ กรณีเงินคงคลังลดลงและขาดดุลเป็นจำนวนมาก ยืนยันมีการดูแลและบริหารเงินคงคลังอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้เงินคงคลังมีจำนวนที่เหมาะสม เพียงพอต่อการสนับสนุนให้การดำเนินภารกิจของรัฐบาลเป็นไปด้วยความราบรื่น
วันที่ 21 มีนาคม 2561 นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ชี้แจงข้อวิจารณ์กรณีเงินคงคลังลดลงและขาดดุลเป็นจำนวนมาก ตามที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต และเพจอาณาจักรไบกอน Returns เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเงินคงคลัง ปี 2557 จำนวน 495,746 ล้านบาท ในปี 2560 คงเหลือ 74,907 ล้านบาท และข้อมูลการขาดดุลเงินคงคลังปี 2561 ที่สูงถึง 6 แสนล้านบาท โดยเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงต่อประชาชนว่าเหตุใดเงินคงคลังลดลงและมีการขาดดุลเป็นจำนวนเงินดังกล่าว นั้น กระทรวงการคลังขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลดังกล่าวเป็นการขาดดุลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุน ซึ่งการลงทุนภาครัฐช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม ช่วยกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนเพิ่มจากภาคเอกชนและจากต่างประเทศ (crowding-in effect) ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจและการจ้างงานในระยะสั้น ยังช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และที่สำคัญ รัฐบาลยึดถือหลักวินัยการเงินการคลังเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารเงินคงคลังเสมอมา โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจและสภาพคล่องของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบในการบริหารจัดการเงินคงคลังให้อยู่ในระดับเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด
ทั้งนี้ เงินคงคลังคือเงินสดที่รัฐบาลมีสำรองไว้สำหรับใช้จ่าย ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อเป็นสภาพคล่องของรัฐบาล มิได้สะท้อนฐานะการคลังของรัฐบาล โดยการบริหารเงินคงคลังยึดถือหลักการคือ ให้มีเงินคงคลังเพียงพอต่อความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วง โดยไม่จำเป็นต้องมีสะสมไว้มากจนเกินจำเป็น เนื่องจากอาจทำให้เสียโอกาสในการนำเงินไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นและต้องคำนึงถึงต้นทุนและภาระดอกเบี้ยในการมีเงินคงคลังมากเกินความจำเป็น
การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง (ในปี 2557 2558 2559 และ 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.0 3.0 3.3 และ 3.9 ตามลำดับ) และในปี 2561 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี
โดยในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท และได้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 1.5 แสนล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มเพียง 1.0 แสนล้านบาท จะทำให้ในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลรวม 5.5 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์เงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอ เหมาะสม และใกล้เคียงกับจำนวนเงินคงคลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่ผ่านมาอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ เดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.44 (ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60) สะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ ในอนาคต เมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล อีกทั้ง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมุ่งมั่นรักษาความยั่งยืนทางการคลัง โดยมีแผนจะจัดทำงบประมาณสมดุล และแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อเป็นการรักษากรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และสามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกอย่างยั่งยืน
จึงขอให้มั่นใจว่า กระทรวงการคลังได้มีการดูแลและบริหารเงินคงคลังอย่างใกล้ชิด ผ่านเครื่องมือทางการคลัง ทั้งรายได้ รายจ่าย และเงินกู้ เพื่อทำให้เงินคงคลังมีจำนวนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการสนับสนุนให้การดำเนินภารกิจของรัฐบาลเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อย
---------------------------