ผลกระทบจากปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน
- ปัญหาอาชญากรรม การลักขโมย ความไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน
- ความไม่ปลอดภัยต่อร่างกายและชีวิตของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน
- ปัญหาเงินทอง การหารายได้ การเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น กระทบต่อเศรษฐกิจในชุมชน
- ขาดความสงบสุข และปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน
ลักษณะหมู่บ้าน/ชุมชนที่เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด
ถ้าหมู่บ้าน/ชุมชนของท่านมีลักษณะดังต่อไปนี้ ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป แสดงว่าปัญหายาเสพติดอาจแทรกซึม เข้าไปแพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชนของท่านได้
1. ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน และคนในหมู่บ้าน/ชุมชนแตกแยก ขาดความสามัคคี
2. มีแหล่งอบายมุขในหมู่บ้าน/ชุมชน
3. ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่/แหล่งที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด
4. มีสถานที่ลับตาอันเป็นแหล่งมั่วสุม เช่น บ้าน/อาคารร้าง ป่าละเมาะ พื้นที่รกร้าง
5. มีคนแปลกหน้าเข้าออกในหมู่บ้าน
6. มีการลักเล็กขโมยน้อยอยู่เสมอ
7. มีคนในหมู่บ้าน/ชุมชนหน้าตาหมองคล้ำ ซูบผอม หรือมีอาการฉุนเฉียว เมาอาละวาด ฯลฯ
8. มีกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงานว่างงานจำนวนมาก โดยมักมั่วสุมกันอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน
9. มีครอบครัวที่ยากจนและมีลูกมาก พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ขาดการเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง
สาเหตุที่ยาเสพติดแพร่ระบาดเข้าสู่หมู่บ้าน/ชุมชน
1.คน อ่อนแอ ขาดจิตสำนึก และความตระหนัก
1.1) เด็กและเยาวชน
- คึกคะนอง อยากรู้อยากลอง ต้องการให้เพื่อนฝูงยอมรับ
- ครอบครัวแตกแยก ขาดความรัก ความอบอุ่น ว้าเหว่ ขาดที่ยึดเหนี่ยว
1.2) ผู้ใหญ่
- มีปัญหาชีวิต เช่น ว่างงาน ยากจน มีหนี้สิน ฯลฯ
- จิตใจไม่เข้มแข็ง ท้อแท้ หมดหวัง ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว
- ผิดหวังในครอบครัว/สังคม
- เห็นแก่ตัว หารายได้ในทางที่ผิด
2.ตัวยา ฤทธิ์ในการมอมเมาของยาเสพติด ทำให้ผู้เสพหลงใหลในความสุข ความเคลิบเคลิ้ม จนไม่สามารถกลับมามีความสุขในชีวิตปกติได้ ต้องพึ่งพาใช้ยาเสพติดไปตลอด
3.สิ่งแวดล้อม
3.1) อบายมุขรอบตัว เช่น การพนัน แหล่งมั่วสุม ฯลฯ ขาดพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวก
3.2) ครอบครัวบกพร่อง ไม่มีเวลา ห่างเหิน ขาดการปลูกฝังขัดเกลาในสิ่งที่ดี
3.3) หมู่บ้าน/ชุมชนอ่อนแอ ขาดแบบอย่างที่ดี ขาดความสามัคคี ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจต่อกัน
ทำไมชุมชนต้องมีส่วนร่วมจัดการปัญหายาเสพติด
พลังชุมชนเป็นพลังสำคัญหยุดยั้งปัญหายาเสพติดได้
1. ปัญหายาเสพติดต้องดำเนินควบคู่กันทุกมาตรการทุกด้าน ทั้งการป้องกัน ปราบปราม บำบัด เฝ้าระวัง พัฒนาคุณภาพชีวิต
2. ปัญหายาเสพติดต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายแก้ไขปัญหา ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ โดยลำพัง
3. คนในหมู่บ้าน/ชุมชนเองรู้จักและเข้าใจปัญหาดีที่สุด จึงเป็นผู้แก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด มากกว่า คนภายนอกหมู่บ้าน/ชุมชน
4. ควรเริ่มต้นจัดการปัญหาด้วยหมู่บ้าน/ชุมชนเองเป็นหลัก มากกว่ารอคอยพึ่งพาคนอื่น/หน่วยงานภายนอกหมู่บ้าน/ชุมชน เชื่อมั่นในพลังของชุมชน
แนวทางหมู่บ้าน/ชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
1) เตรียมความพร้อมคนในหมู่บ้าน/ชุมชน 2 ระดับ
- ระดับชาวบ้าน ทำให้เกิดความตระหนักในโทษและพิษภัยของยาเสพติด มุ่งมั่นมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา โดยการประชุมประชาคม การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างเสริมความเข้าใจและปรับทัศนคติ ฯลฯ
- ระดับแกนนำ สรรหาผู้นำทั้งทางการและผู้นำธรรมชาติ พัฒนาศักยภาพโดยฝึกอบรม/ศึกษา ดูงาน ฯลฯ
2) ทำความเข้าใจกับปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน
2.1) สำรวจ คัดกรองเพื่อบ่งชี้ปัญหา ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ประชุมประชาคม เสวนา ฯลฯ
2.2) วิเคราะห์ข้อมูลจำแนกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะกับแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ค้า ผู้เสพ/ผู้ติด กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มปกติ
2.3) วิเคราะห์ศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อประเมินต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น
3) วางแผนงานของหมู่บ้าน/ชุมชน
3.1) วางแผนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดและแก้ไขปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องที่เป็นเหตุของปัญหายาเสพติด โดยต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และประยุกต์ใช้ต้นทุน ศักยภาพ และภูมิปัญญาที่มีในชุมชนเอง
3.2) ประสานแนวร่วม หาความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
4) ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมจากคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้
4.1) กำหนดกติกาชุมชน/มาตรการทางสังคมร่วมกัน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในข้อตกลง กติกา ระเบียบ และ/หรือธรรมนูญของชุมชน ตามแนวทางสันติวิธี
4.2) ดำเนินการป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนทำงาน และประชาชนทั่วไป
4.3) สอดส่อง ตรวจตรา เฝ้าระวัง เช่น สร้างเครือข่ายแกนนำดูแลเฝ้าระวังในชุมชน จัดอาสาสมัคร เดินเวรยาม แจ้งเบาะแสผู้ค้าแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
4.4) ดูแล แก้ไขผู้เสพ/ผู้ติด
- แก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติด ค้นหา ทำความเข้าใจ เชิญชวน คัดกรอง ช่วยเหลือ ส่งต่อ
- ติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฯ ในด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาพ อาชีพ การศึกษา และการเปิดโอกาสทางสังคม
4.5) จัดการสภาพแวดล้อม แก้ไขปัจจัยเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยง พัฒนาพื้นที่เชิงบวก/พื้นที่สร้างสรรค์
5) พัฒนาสู่ความยั่งยืน
5.1) พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน แก้ไขปัญหาพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
5.2) จัดการองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่าย ประเมินผล สรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมเชื่อมโยงเครือข่ายภายนอกชุมชน เพื่อเพิ่มพลังความเข้มแข็งในการทำงาน
5.3) พัฒนาแกนนำรุ่นต่อไป สร้างจิตอาสา พัฒนาศักยภาพให้กับผู้นำรุ่นสอง เพื่อให้มีแกนนำ สืบต่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง