กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชวนประชาชนกินผัก ผลไม้กลุ่มที่มีสรรพคุณต้านตะคริว หลังพบเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาการเสียชีวิตจากการจมน้ำ เกิดจากอาการตะคริว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ฤดูร้อนจะพบข่าวการจมน้ำเสียชีวิตบ่อย ๆ เนื่องจากการลงเล่นน้ำในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ถือว่าเป็นวิธีการช่วยดับความร้อนอีกได้อีกวิธีหนึ่ง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 22 มีนาคม 2561 ช่วงระยะเวลาแค่เดือนกว่าๆ พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 26 ราย สาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเป็นตะคริวใต้น้ำ อาการตะคริวคือ การเกร็งตัว ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดฉับพลันและเป็นอยู่เพียงชั่วขณะก็จะทุเลาไปได้เอง อาจเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนใดๆ ของร่างกายก็ได้ แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ กล้ามเนื้อน่องและต้นขา อาจมีอาการขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน ขณะนั่งพักหรือนอนก็ได้ พบได้ทุกวัย ส่วนตะคริวที่เป็นตอนกลางคืนพบบ่อยในคนวัยกลางคนและสูงอายุ
สาเหตุการเกิดอาการตะคริวไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป การออกกำลังกายที่ใช้แรงหรือออกกำลังกายติดต่อกันนานๆ เช่น วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ เล่นกีฬา หรือเกิดจากภาวะเกลือแร่ เช่น โซเดียม โพแตสเซียม แคลเซียม แมกเนเซียม ในเลือดต่ำ ภาวะการณ์ตั้งครรภ์ร่างกายขาดแคลเซียม หรือการใช้ยาขับปัสาวะ ยาขยายหลอดลม ก็ส่งผลต่อการเกิดตะคริวได้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ทางที่ดีการเตรียมความพร้อมของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ถือว่าเป็นความไม่ประมาท ซึ่งทำได้หลายวิธี ในที่นี้จะแนะนำให้เห็นประโยชน์ของการบริโภคผัก ผลไม้ กลุ่มที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มเกลือแร่ให้ร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการตะคริวได้อีกทางหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มสมุนไพรที่มีสารโพแทสเซียม แมกนีเซียมและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ มะเขือเทศ ส้ม แคนตาลูป รวมถึงผักต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนช่วยเสริมเกลือแร่ให้เพียงพอ ลดความเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตในหน้าร้อนได้ และเมื่อเกิดอาการตะคริวการช่วยเหลือในเบื้องต้น คือ การยืดเหยียดบริเวณที่ปวดเป็นก้อนที่เกิดจากกล้ามเนื้อ หดเกร็ง โดยใช้น้ำมันไพลหรือสมุนไพรฤทธิ์ร้อนซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันไพลแบบที่ใช้ง่าย สะดวก รูปแบบสเปรย์ฉีดพ่น นวดเบาๆ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ดี
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การรับประทานผลไม้ดังกล่าวให้ได้ผลดี ควรเลือกรับประทาน "กล้วยน้ำว้าห่าม" ที่มีรสฝาดออกหวาน จะช่วยบำรุงร่างกาย เนื่องจากกล้วยห่ามมีแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมสูง สรรพคุณช่วยชดเชยโพแทสเซียมแก่ร่างกายมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อกล้วยเป็นผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงซึ่งจะถูกย่อยและดูดซึมได้อย่างรวดเร็วช่วยเพิ่มกากใยที่ช่วยในการขับถ่ายรวมทั้งเคลือบแผลในกระเพาะอาหารได้จึงควรรับประทานกล้วย วันละ 2-4 ผล เพื่อป้องกันภาวะขาดเกลือแร่จนเป็นสาเหตุของตะคริว ไม่แนะนำในกลุ่มป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งอาจต้องควบคุมปริมาณการรับประทานตามแพทย์สั่ง