กรมการแพทย์เผยโรคความดันโลหิตสูงเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย และโรคหัวใจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ชวนประชาชนใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในระดับประเทศและระดับโลก สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกและสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ จึงกำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น "วันความดันโลหิตสูงโลก" (World Hypertension Day) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกมีความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคนี้เป็นภัยเงียบโดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่มีสัญญาณเตือนหรือแสดงอาการให้เห็นชัดเจนในช่วงแรกแต่เกิดอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่มีโรคแทรกซ้อนแล้ว โดยจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย เหนื่อย นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกตินำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ไตเสื่อม เส้นเลือดในสมองแตกทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออันตรายถึงชีวิต
6 วิธีลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้ถึงร้อยละ 80-90 อาจเกิดจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน การรับประทานอาหารรสเค็มจัด ความเครียด ขาดการ ออกกำลังกายการตั้งครรภ์บ่อยครั้ง โรคเบาหวาน การรับประทานยาคุมกำเนิด
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแต่สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความดันโลหิตสูงควรตรวจเช็คร่างกายและวัดความดันโลหิตเป็นประจำพยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัดรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ความวิตกกังวล ทำกิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือ งดบุหรี่และสุรา ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องเพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์