เน้นหนักนำร่อง 9 จังหวัด เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร พร้อมกำหนดคู่มือการดำเนินงาน ปี 2561/62
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ณ กรมการข้าว ว่า ตามที่คณะทำงานฯ ดังกล่าว ได้มีการดำเนินการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ในทุกจังหวัดของประเทศไทยนั้น ซึ่งในปี 2561/62 นี้ ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรอย่างเน้นหนัก ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) ได้ประสานกับกรมการข้าวในการดำเนินโครงการนำร่องเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่
ชัยภูมิ นครนายก นครสวรรค์ พิจิตร สระบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครพนม และขอนแก่น
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ปี 2560 มีจำนวนผู้ประกอบการค้าข้าวที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการ จำนวน 133 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการค้าข้าวที่รับซื้อผลผลิตข้าวอินทรีย์ จำนวน 91 ราย และผู้ประกอบการค้าข้าวที่รับซื้อผลผลิตข้าว GAP จำนวน 101 ราย (มีผู้ประกอบการค้าข้าวที่รับซื้อผลผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP จำนวน 59 ราย) สำหรับจำนวนผู้ประกอบการค้าข้าวที่มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าว มีจำนวน 28 ราย และรับซื้อข้าวจากกลุ่มเกษตรกร 74 กลุ่ม เป็นจำนวน 832 คน มีปริมาณข้าว 6,691.47 ตัน อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการค้าข้าวที่ได้รับโควต้าส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป จำนวน 9 ราย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบคู่มือการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ปีการผลิต 2561/62 แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การรับสมัครผู้ประกอบการค้าข้าว การขับคู่ธุรกิจ และการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขาย (MOU) ระหว่างผู้ประกอบการค้าข้าวกับกลุ่มเกษตรกร ขั้นตอนที่ 2 การซื้อขายข้าวระหว่างผู้ประกอบการค้าข้าวและกลุ่มเกษตรกร และขั้นตอนที่ 3 การขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยของผู้ประกอบการค้าข้าว
กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871
[email protected]
www.moac.go.th
www.facebook.com/kasetthai