เกียร์ต่างกันอย่างไร
ปัจจุบันรถยนต์ทั่วไปมักใช้เกียร์รถแบบ Auto และยังมีบางส่วนที่ขับแบบเกียร์กระปุก ในขณะที่รถรุ่นใหม่ๆ เริ่มเปลี่ยนมาใช้เกียร์ CVT กันมากขึ้น จะว่าไปแล้วคนขับรถทั่วไป ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรือรู้ว่าเกียร์แต่ละแบบนั้นมีดีหรือเสียต่างกันอย่างไร ช่างเค.จึงนำข้อมูลมาฝากครับ
ความแตกต่างระหว่าง เกียร์ CVT vs เกียร์ AUTO
เกียร์ CVT คืออะไร ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยสำหรับหลายๆคนวันนี้ผม “ช่างเค” เลยจะขอเอาประเด็นนี้มาอธิบายให้เพื่อนๆเข้าใจ และทำความรู้จักกันให้มากยิ่งขึ้นครับ
ระบบเกียร์ CVT (CONTINOUS VARIABLE TRANSMISSION) ในรถยนต์ หรือ ระบบเกียร์แปรผัน เป็นเกียร์ที่จะเปลี่ยนแปลงการทำงานตามกำลังที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ ซึ่งในชุดเกียร์จะประกอบด้วย พูลเลย์ 2 ตัว ตัวแรกต่อกับเครื่องยนต์เรียกว่า พูลเล่ย์ขับ (DRIVE PULLEY) ส่วนตัวที่ต่อกับเพลาจะเรียกว่า พูลเลย์ตามหรือพูลเล่ย์กำลัง (DRIVEN PULLEY) โดยทั้งสองตัวจะทำงานสอดคล้องกันตามอัตราเร่งและรอบเครื่องยนต์
ในชุดเกียร์ AUTOMATIC หรือเกียร์ธรรมดา (Manual)
สำหรับรถยนต์เกียร์ AUTO หรือเกียร์ MANUAL ปกติเวลาเราเปลี่ยนจะต้องเข้าเกียร์ ซึ่งภายในเกียร์ก็จะเปลี่ยนและเลื่อนการขบกันของเฟืองไปยังชุดเกียร์ต่าง ๆ เช่น เกียร์ 1,2,3,4 จนถึงเกียร์สุดท้าย เพื่อให้ทำงานตามอัตราทดของเกียร์นั้น ๆ ทำให้รู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนอัตราทดในเกียร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนให้อัตราทดสูงขึ้นหรือต่ำลง หรือสามารถสังเกตได้จากรอบของเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ามันช่วยเพิ่มอรรถรสและอารมณ์สนุกเร้าใจในการขับขี่ได้ ในส่วนของเกียร์ CVT ในรถยนต์นั้น จะไม่มีชุดเฟืองในแต่ละเกียร์ แต่จะปรับอัตราทดด้วยการเปลี่ยนขนาดของพูลเล่ย์ให้เป็น พูลเลย์ขับเล็ก พูลเลย์ตามใหญ่ เพื่อให้ได้แรงบิดในการออกตัว เปรียบเทียบก็เหมือนเกียร์ 1 เฟืองเล็กขับเฟืองใหญ่ เมื่อความเร็วสูงขึ้น ใช้เกียร์สูงขึ้น พูลเลย์ขับก็จะขยายตัวใหญ่ขึ้น ในขณะที่พูลเลย์ตามจะมีขนาดลดลง กลายเป็นใหญ่ขับเล็กและจะได้ความเร็ว ซึ่งรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติกปัจจุบันก็เป็นการทำงานแบบนี้เช่นกัน
ในเกียร์ CVT กับเกียร์ AUTO หรือเกียร์ธรรมดา จะมีหลักการปรับเปลี่ยนอัตราทดเหมือนกันคือเปลี่ยนจากเฟืองมาเป็นพูลเล่ย์ ที่จะขยายใหญ่หรือลดขนาดไปตามอัตราทดที่ต้องการ โดยใช้สายพานโลหะเป็นตัวเชื่อมการทำงานของพูลเลย์ทั้ง 2 อันไว้ด้วยกัน ซึ่งระบบการปรับขนาดของพูลเล่ย์นี้มีทั้งแบบทำงานโดยไฟฟ้าและไฮดรอลิก ทำให้ไร้ความรู้สึกในการปรับเปลี่ยนอัตราทดในเกียร์ CVT
ข้อดีของเกียร์ CVT
ข้อดีของเกียร์ CVT จุดเด่นคือความนุ่มนวล เพราะเกียร์ CVT จะเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องไม่มีรอยต่อการเปลี่ยนเกียร์ จาก 1 ไป 2 ไป 3 เหมือนเกียร์ AUTO ปกติ ดังนั้นจึงทำให้รถยนต์นิ่งไม่มีความรู้สึกถึงการกระชาก หรือกระตุกในจังหวะเปลี่ยนเกียร์ แต่จะค่อย ๆ ไต่ความเร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างนุ่มนวล ในขณะเดียวกันข้อดีของการที่เกียร์ไม่กระชาก จะทำให้รอบเครื่องไม่กระชากตามไปด้วย ส่งผลให้ทำให้อัตราการบริโภคน้ำมันลดลง และไม่มีการลากรอบทิ้งก่อนเปลี่ยนเกียร์เหมือนเกียร์ออโต้
ส่วนข้อเสียนั้นจริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นข้อเสียซะทีเดียว เพราะส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนเท้าหนักหรือคนที่คุ้นเคยกับเกียร์ในแบบที่มีรอยต่อเกียร์ให้รู้สึกลากรอบเพื่อเรียกแรงบิดในเกียร์ออโต้เป็นหลัก เพราะอย่างที่อธิบายไปแล้วว่าเกียร์แบบนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อให้การเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลไม่กระชาก ดังนั้นบรรดาขาซิ่งหรือผู้ที่คุ้นเคยกับเกียร์ออโต้แบบเก่า จึงรู้สึกเหมือนกับว่ารถมันไม่ค่อยวิ่ง ถ้าไปใช้วิธีการขับแบบเดิม ๆ ก็กลายเป็นมีแต่รอบ รถไม่วิ่ง แถมมาด้วย พอรถมันรู้สึกเหมือนไม่วิ่งก็คิ๊กดาวน์บ่อย ๆ กระชากสายพานบ่อย ๆ อายุสายพานก็ลดลง แต่ถ้าวัดความเร็วกันจริง ๆ ก็ช้ากว่าเกียร์ธรรมดาไม่มากนัก แค่รู้สึกไม่ทันใจเท่านั้นเอง เกิดจากการขัดความรู้สึกที่ชินกับเกียร์ออโต้หรือเกียร์ธรรมดาซะมากกว่า
ในการขับขี่รถยนต์ที่ใช้งานเกียร์ CVT อย่างถูกวิธี ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณรีดสมรรถนะของเกียร์แบบนี้ ออกมาได้มากกว่าเดิมแล้ว ยังช่วยยืดอายุของเกียร์ให้มากขึ้นด้วย ในการออกตัวเกียร์ CVT จะทำงานด้วยอัตราทดที่สัมพันธ์กันตามการหมุนของรอบเครื่อง เพราะฉะนั้นในการออกตัวควรจะเริ่มจากค่อย ๆ กดคันเร่งลงไปเล็กน้อยให้รอบเครื่องเริ่มขยับ จนรู้สึกว่าเริ่มมีแรงบิดจากเกียร์ แล้วจึงค่อย ๆ เติมคันเร่งเพิ่มเข้าไป การใช้วิธีนี้จะทำให้รถออกตัวได้เร็วและนุ่มนวลกว่าการออกตัวแบบเหยีบคันเร่งไปแบบเต็มที่หรือทันทีทันใด เพราะการกดคันเร่งแบบหนักหน่วงทันทีจะทำให้รอบเครื่องกวาดขึ้น แต่พูลเล่ย์จะหมุนตามไม่ทัน รถจึงเกิดอาการรอรอบ
ส่วนวิธีที่จะขับให้ประหยัดนั้น พอรถออกตัวเคลื่อนที่แล้วให้กดคันเร่งเน้น ๆ หน่อย โดยรถจะค่อย ๆ ไต่ความเร็วขึ้นไปจนถึงความเร็วที่ต้องการให้ยกเท้าขึ้นนิดนึง แล้วคงความเร็วไว้นิ่งๆ ในช่วงความเร็วที่ต้องการ จะเป็นการขับโดยไม่มีรอบฟรีทิ้งให้เปลืองน้ำมัน ในการแซงหากกระแทกคันเร่งลงไปทีเดียวรถก็จะเกิดอาการรอรอบ (รอบกวาดสูง) เช่นกัน ต้องใช้วิธีเบิ้ลคันเร่งคือเมื่อจะเร่งแซงก็ให้กดคันเร่งเหมือนคิ๊กดาวน์ แล้วถอนออกเพื่อให้เกียร์ทำงานเร็วขึ้น
การบำรุงรักษา เกียร์ CVT
โดยส่วนใหญ่ผู้ขับขี่รถยนต์จะคุ้นเคยกับเกียร์ออโต้แบบเดิม คือ การออกตัวแบบรุนแรงรีบร้อนหรือการลากรอบเครื่องรอบเกียร์สูง ๆ บ่อย ๆ ฉะนั้นสิ่งแรกที่ถือว่าเป็นการบำรุงรักษารถยนต์เกียร์ CVT นั้น ต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการขับขี่ก่อน ได้แก่การไม่ออกตัวแบบกระชาก หรือไม่ทำเลยได้ยิ่งดี เพราะสายพานโลหะที่เชื่อมกำลังระหว่างพูลเล่ย์ทั้ง 2 ตัว ถ้ามีการกระชากบ่อย ๆ สายพานก็จะชำรุดเสียหาย ต่อมาควรมีการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามระยะ นั่นคือ ตรวจสอบหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ตามระยะที่คู่มือกำหนด หรือเปลี่ยนทุก ๆ 40,000 หรือ 80,000 กม. และเพื่อให้สบายใจในการขับขี่มากควรเลือกเกรดน้ำมันเกียร์ให้ถูกต้องและเหมาะสมตามสเปคมาตรฐานของเกียร์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะน้ำมันเกียร์ของเกียร์ AUTO ธรรมดากับน้ำมันเกียร์ CVT มีค่าความหนืดไม่เท่ากัน ไม่ควรเอามาใช้ปนกันเด็ดขาด! …ซึ่งเพื่อนๆคนไหนที่มีความสนใจเปลี่ยนถ่าย ดูแลบำรุงรักษา สามารถเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์บริหารมาตรฐาน โตโยต้า เค.มอเตอร์ส ทั้ง 17 สาขา ของเราได้เลยครับ หรือโทรนัดหมายหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-662-6555
สรุป เกียร์ CVT vs เกียร์ AUTO ไม่ว่าจะเป็นเกียร์แบบไหน การใช้งานการขับขี่ก็เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดสมรรถนะสูงสุดไม่ว่าจะการสิ้นเปลืองหรือพละกำลัง รวมถึงอายุการใช้งานที่จะยืดยาวนานหรือสั้นก็อยู่ที่การขับขี่ซะส่วนใหญ่แล้วล่ะครับ ลองปรับเปลี่ยนและทำความคุ้นเคยกับเกียร์ CVT ดู แล้วจะรู้เลยว่ามันก็ไม่ธรรมดาจริงๆ /ช่างเค
ข้อมูลดีๆ จาก
http://www.kmotors.co.th