ขับขี่ปลอดภัย
การขับรถในช่วงฤดูฝนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยต่อรถของคุณ ขอแนะนำวิธีการและขั้นตอนในการตรวจสอบรถยนต์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนดังนี้ครับ
1. ตรวจสอบทัศนวิสัยในการขับขี่ ว่ากระจกหน้าของรถมีการทำงานของ “ยางใบปัดน้ำฝน” ดีเพียงใด หากมีการใช้งานแล้วยางใบปัดน้ำฝนไม่สามารถรีดน้ำออกได้เต็มที่ ในช่วงที่ฝนตกอย่างรุนแรง อาจจะส่งผลให้ท่านไม่สามารถมองออกไปได้อย่างชัดเจน และจุดหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกันนั่นคือ “หัวฉีดน้ำกระจก” ขอแนะนำให้หมั่นตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีการอุดตันของน้ำที่ฉีดออกไป ซึ่งมีส่วนให้ยางใบปัดน้ำฝนทำงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีส่วนชะล้างคราบสกปรกต่างๆ ที่เกาะติดอยู่ออกไปได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะหากเราได้ใส่น้ำยาล้างกระจกเข้าไปที่กระป๋องน้ำที่ฉีดกระจกจะเป็นส่วนเสริมให้ผิวหน้ากระจกลื่นขึ้นและถนอมไม่ให้ยางใบปัดน้ำฝนเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้นเพราะความเสียดทานที่กระจกน้อยลงไป โดยระดับน้ำที่ต้องตรวจสอบที่กระป๋องน้ำฉีดกระจกต้องเติมให้เต็มอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากในช่วงนี้อาจจะต้องมีการใช้น้ำมากกว่าการขับขี่ปกติ
2. สัญญาณไฟต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะไฟหน้ารถยนต์ “ไฟตัดหมอก” และ “ไฟเลี้ยว” ที่ต้องใช้ควบคู่กับ ไฟฉุกเฉิน ซึ่งเราจะต้องใช้งานเมื่อหากขับผ่านจุดที่มีฝนตก โดยการเปิดไฟหน้าหรือไฟตัดหมอก เพื่อให้เกิดทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่ การตรวจสอบด้วยตัวเองมีวิธีง่ายๆดังนี้ คือให้เปิดสวิทช์ไฟไปที่ตำแหน่งไฟต่ำ และออกมาสังเกตที่บริเวณโคมไฟหน้า และไฟตัดหมอกว่า มีแสงสว่างที่ออกมาอยู่ในตำแหน่งและแสงไฟที่ส่องออกมามีกำลังเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่า แสงที่ออกมาไม่มีหรือไฟที่ออกมาเหมือนแสงไฟที่น้อยและริบหรี่มาก สมควรที่จะเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบว่าโคมไฟหรือหลอดไฟมีการเสื่อมสภาพจากการใช้งานมาหรือไม่ สำหรับสัญญาณไฟฉุกเฉินที่จะต้องตรวจสอบ ก็เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องใช้งานในนาทีฉุกเฉิน และรถของเราได้ประสบเหตุที่ไม่คาดคิด เช่น รถอาจจะเสียกลางทาง หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะได้ไม่ต้องมาเสียอารมณ์เพิ่มมากขึ้น โดยขอแนะนำให้สังเกตเมื่อเราเปิดไฟเลี้ยว ทั้งสองข้างหากพบว่ามีจังหวะที่ไฟกระพริบเร็วมากกว่าปกติ นั่นแสดงว่าหลอดไฟด้านใดด้านหนึ่งขาด และให้กดสวิทช์ไฟฉุกเฉินว่ามีการทำงานที่เป็นปกติหรือไม่ หากสวิทช์ไม่ทำงานแนะนำให้ท่านต้องรีบเช็คที่ศูนย์บริการว่ามีส่วนไหนที่ทำงานบกพร่อง สำคัญคือเมื่อฝนตกห้ามเราเปิดไฟฉุกเฉินในขณะขับขี่ให้เปิดไฟหน้าหรือไฟหรี่แทน
3. ยางรถยนต์ หมั่นตรวจสอบ “ลมยาง” และ “สภาพยาง” อย่างสม่ำเสมอและเติมลมยางให้มากกว่าปกติประมาณ 2-3 ปอนด์ เพื่อให้หน้ายางแข็ง ซึ่งจะช่วยรีดน้ำออกจากหน้าสัมผัสของยาง และป้องกันอาการล้อฟรี ได้ ในกรณีดอกยางสึกหรอควรเปลี่ยนยางใหม่ โดยเลือกยางที่มีดอกยางละเอียดและมีร่องยางลึกไม่ต่ำกว่า 1.5 – 2 มม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน และการหยุดรถบนเส้นทางที่เปียกลื่น และให้ตรวจสอบอายุการใช้งานของยางด้วยว่าสมควรเปลี่ยนใหม่หรือไม่ ซึ่งปกติแล้วจะใช้งานไม่เกิน 4 ปี
4. ผ้าเบรก เมื่อถึงระยะเวลาที่ต้องเปลี่ยนหรือสึกหรอจากการใช้งานและมีการใช้งานที่นานมากๆ แต่ไม่เคยเปลี่ยนเลย อาจจะส่งผลให้การจับตัวของผ้าเบรกและจานเบรก ไม่มีประสิทธิภาพทำงานซึ่งเมื่อเจอกับสภาพอากาศที่มีความชื้นและเกิดการเปียกลื่นด้วยแล้ว เป็นการเสริมให้ความลื่นของหน้าสัมผัสมีมากขึ้น หากสภาพยางและเบรกไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี อาจจะทำให้รถเสียการทรงตัวและพลิกคว่ำได้ง่าย เพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่ควรตรวจสอบยางและระบบเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
5. นำรถเข้าตรวจสอบเช็คระยะตามที่ผู้ผลิตกำหนดมาให้ เพราะหากเราละเลยหรือไม่นำรถเข้าตรวจสอบ อาจจะมีชิ้นส่วนบางตัว ที่เสื่อมสภาพจากการใช้งานหรือมีความจำเป็นต้องเปลี่ยน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถขับรถได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
6. ผู้ขับขี่ ไม่ควรขับรถตามรถคันหน้าในระยะกระชั้นชิดและขับรถจี้ท้ายรถคันหน้า ประกอบกับสภาพถนนเปียกลื่น เมื่อรถคันหน้าหยุดรถกะทันหัน จะทำให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ไม่ควรขับรถด้วยความเร็วสูง ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าในระยะที่เพียงพอต่อการหยุดรถหรือในระยะไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อป้องกันรถคันหน้าหยุดกะทันหันซึ่งจะทำให้ถูกรถคันอื่นชนท้าย ในการหยุดรถหรือเปลี่ยนช่องทางเดินรถกะทันหัน ให้เปิดสัญญาณไฟล่วงหน้าก่อนเปลี่ยนช่องทางทุกครั้ง ไม่เหยียบเบรกและปลดเกียร์ว่างขณะเข้าโค้ง เพราะจะเกิดแรงเหวี่ยงจนทำให้รถหลุดโค้งหรือให้ไม่สามารถควบคุมรถให้อยู่ในเส้นทางได้
7. หากเกิดอาการรถเหินน้ำ ซึ่งเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านบริเวณที่มีแอ่งน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะทางโค้งและที่ลาดต่ำ ทำให้ยางไม่สามารถรีดน้ำออกจากหน้าสัมผัสได้ทัน จะส่งผลให้ล้อหมุนและลอยอยู่บนน้ำ ไม่สัมผัสกับพื้นถนน และเกิดการลื่นไถลจนไม่สามารถควบคุมได้ วิธีแก้ไขให้ค่อยๆถอนคันเร่ง เพื่อเบาเครื่องยนต์ จับพวงมาลัยให้มั่นคง พร้อมใช้เกียร์ต่ำจนกว่ารถจะทรงตัวได้ จึงค่อยเบรกเพื่อหยุดรถ กรณีขับผ่านแอ่งน้ำหรือหลุมบ่อที่มีความลึกมากกว่าปกติ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยแตะเบรกก่อนจะถึงแอ่งน้ำเพราะจะทำให้รถหมุนหรือปัดจนเกิดอุบัติเหตุได้หากเกิดอาการตกใจเมื่อไปแตะเบรก
ทางช่างเค หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำแนะนำข้างต้นจะช่วยให้ทุกๆ ท่านได้ใช้รถ ใช้ถนน และขับขี่ได้อย่างปลอดภัยในช่วงฤดูฝนนี้นะครับ
“Credited by ช่างเค”…