เรื่อง การเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ การปรับเปลี่ยนการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อการเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กำหนด (สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ) รายเดือน (200/100 บาท/คน/เดือน) สำหรับระยะเวลาคงเหลืออีก 4 เดือน (กันยายน – ธันวาคม 2561) เป็นการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้มีสิทธิตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทนด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมกับที่เคยได้รับเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและกำลังซื้อให้แก่ผู้มีสิทธิสามารถนำไปใช้จ่ายตามความต้องการอันจะช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ และส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า การดำเนินการตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ตั้งแต่เดือนมีนาคม – สิงหาคม 2561 (ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน) ซึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินการฯ รวมทั้งสิ้น 5,695.83 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้
(1) กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จำนวนเงิน 4,868.85 ล้านบาท และ
(2) กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จำนวนเงิน 826.98 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี กค. ได้เสนอว่า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและกำลังซื้อให้แก่ผู้มีสิทธิสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ อันจะช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ และส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนแนวทางจากการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ รายเดือน เป็น การเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิแทน ด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมที่ได้รับ
โดยจะใช้ดำเนินการในระยะเวลาที่เหลืออีก 4 เดือนของมาตรการนี้ คือ กันยายน – ธันวาคม 2561 ซึ่งผู้มีสิทธิสามารถถอนเงินที่เติมเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ฯ เป็นเงินสดได้ ผ่านตู้ ATM และสาขาของ บมจ. ธนาคารกรุงไทย รวมทั้งหากมียอดคงเหลือของเดือน สามารถนำไปสะสมในเดือนถัดไปได้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 (เรื่อง มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ในส่วนของข้อ 3.5 มาตรการส่งเสริมการพัฒนาตนเอง
เรื่อง โครงการอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการโครงการอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560
2. เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
2.1 ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันเพื่อจัดทำแผนดำเนินโครงการในรายละเอียด เช่น แนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการระยะเวลาดำเนินโครงการ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ รูปแบบชุดข้อมูลแนวทางการประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นต้น รวมทั้งให้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอโครงการ (Project Proposal) ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ชัดเจน และเป็นรูปธรรม เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอ กสทช. ในการขอใช้แหล่งรายได้จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนดำเนินโครงการต่อไป
2.2 ให้กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำฐานข้อมูลผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้มีการจัดทำไว้เป็นรายบุคคลมาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงความต้องการของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละบุคคลหรือแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อใช้ในการออกแบบข้อมูลที่ตอบสนองความต้องการของผู้ได้รับสิทธิตามโครงการแบบรายบุคคลหรือรายกลุ่มเป้าหมายและพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักให้กับผู้เข้าร่วมโครงการถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งข้อมูลตามความเห็นของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบการดำเนินโครงการต่อไปด้วย
2.3 ในการหารือแนวทางการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ให้กระทรวงการคลังประสานงานกับสำนักงาน กสทช. เพื่อขอความร่วมมือให้หารือร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1)
ควรสนับสนุนให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าร่วมโครงการ จัดสรรการให้บริการที่เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อยและภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ
(2)
คำนึงถึงความซ้ำซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นของการให้บริการอินเทอร์เน็ตภายใต้โครงการอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีรายได้น้อยฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอมาในครั้งนี้กับโครงการเน็ตประชารัฐที่ดำเนินการอยู่แล้ว
2.4 ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินโครงการเพื่อนายกรัฐมนตรีรับทราบในลักษณะข้อมูลออนไลน์ผ่านศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ตามความเห็นของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
3. ให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดกลไกการประเมินผลโครงการสวัสดิการแห่งรัฐในภาพรวม เพื่อให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการ ตลอดจนนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงรูปแบบการจัดสวัสดิการของภาครัฐในระยะต่อไป
เรื่อง ขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการในคู่มือการดำเนินโครงการฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. การขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่ตาม โครงการไทยนิยม ยั่งยืน จนถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2562
2. การแก้ไขเพิ่มเติมหลักการในคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” (หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท) ดังนี้
2.1 ระยะเวลาดำเนินการ หากมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ เดิม “ให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัดกรุงเทพมหานครพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่ต้องไม่เกิน สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2561” เปลี่ยนแปลงเป็น “ให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัดกรุงเทพมหานคร พิจารณาให้ความเห็นชอบได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ภายในกรอบระยะเวลา ดังนี้
ครั้งที่ 1 เห็นชอบให้ขยายได้ไม่เกินสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (วันที่ 30 กันยายน 2561)
ครั้งที่ 2 เห็นชอบให้ขยายได้ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561”
2.2 การให้ความเห็นชอบเฉพาะกรุงเทพมหานครให้ขยายระยะเวลาการจัดส่งแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 30 กันยายน 2561
2.3 การยกเลิกโครงการเดิมและขอเปลี่ยนแปลงเป็นโครงการอันเนื่องมาจาก ภัยพิบัติหรือเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจทำให้ดำเนินโครงการได้ จะต้องเสนอแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เดิม “ให้กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ ภายใน 30 วัน นับแต่หมู่บ้าน/ชุมชนได้รับแจ้งผลการเห็นชอบแผนฯ” เปลี่ยนแปลงเป็น “ให้กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่/สำนักงบประมาณภายในวันที่ 30 กันยายน 2561”