กระทรวงสาธารณสุข ชี้ไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ร้อยละ 90 เกิดจากไวรัส เตือนประชาชนไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ไม่ช่วยลดอาการหรือหายเร็วขึ้น เสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยา ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตคนไทยปีละกว่า 30,000 ค
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลง ประชาชนมักป่วยเป็นไข้หวัด คออักเสบ มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก มีไข้ เจ็บคอ ไอ หรือเสียงแหบจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน จึงขอเตือนประชาชนว่า อย่าซื้อยาปฏิชีวนะหรือที่มักเรียกกันว่ายาแก้อักเสบมารับประทานเอง เพราะไข้หวัดกว่าร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะเป็นยารักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่ช่วยลดความรุนแรงหรือช่วยให้หายเร็วขึ้น ที่สำคัญคืออาจทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกายกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้ ซึ่ง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลใน 3 โรคที่พบบ่อย คือ หวัด-เจ็บคอ โรคท้องร่วง และแผลเลือดออก
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ในการสังเกตว่าเป็นหวัดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย สามารถทำได้เองโดยใช้ไฟฉายส่องในช่องปากและดูภายในลำคอจากกระจก หรือใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ หากเป็นหวัดจากเชื้อไวรัส จะมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ คอหอยและต่อมทอนซิลจะเป็นสีแดง เพียงผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำมากขึ้น ดูแลร่างกายให้อบอุ่น กินยารักษาตามอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ อาการจะดีขึ้น ไข้จะค่อยๆ ลดลงใน 3- 4 วัน และหายเองได้ภายใน 7 วัน ส่วนอาการไออาจจะนานถึง 21 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดภายใน 2 – 3 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ กรณีที่มีไข้สูง เจ็บที่ต่อมน้ำเหลืองด้านข้างลำคอ คอหอยและต่อมทอนซิลแดงจัด และมีฝ้าขาวหรือตุ่มหนอง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ขอให้ไปพบแพทย์ และเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะ ขอให้รับประทานยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จนหมดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นก็ตาม เพื่อให้หายขาด ไม่กลับเป็นซ้ำ ลดความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากหวัด เช่น หัวใจพิการเป็นต้น ลดปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 30,000 คน
ทั้งนี้ ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อหายป่วยร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันตามช่วงเวลา จึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นอีก ประชาชนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการป่วย โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้าตนเองโดยไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัด สำหรับไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงที่ตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ และลดการเสียชีวิต ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานตั้งแต่ 1 มกราคม–27 สิงหาคม ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 95,239 ราย จาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 14 ราย