พม. แถลงชี้แจงการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบเดิม และการขับเคลื่อนโครงการเมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน และการบูรณาการทุกภาคส่วน จัดระเบียบในพื้นที่สวนลุมพินี พร้อมเชิญชวนบริจาคเพื่อผู้ด้อยโอกาส ด้วยการให้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
วันนี้ (11 ต.ค. 61) เวลา 10.30 น. ที่บริเวณโถง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ รองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าวการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในประเด็นดังนี้ 1) การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และโครงการ Flagship 2 : การให้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดย นางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ 2) โครงการเมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน โดย นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และ 3) การจัดระเบียบในพื้นที่สวนลุมพินี โดย นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
ตามที่ มีการส่งข้อความเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มคนละ 100 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ขอชี้แจง ดังนี้ การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ยึดแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 ซึ่งปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังคงเป็นการจ่ายแบบขั้นบันได ดังนี้
ผู้สูงอายุ 1) อายุ 60-69 ปี รับเบี้ย 600 บาทต่อเดือน
2) อายุ 70-79 ปี รับเบี้ย 700 บาทต่อเดือน
3) อายุ 80-89 ปี รับเบี้ย 800 บาทต่อเดือน
และ 4) อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 1,000 บาทต่อเดือน
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ ครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 มีมติอนุมัติการจ่ายเงินในโครงการมาตรการให้เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รายละเอียด ดังนี้ ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย 1)รายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับเพิ่ม 50 บาท/คน/เดือน และ 2) รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเพิ่ม 100 บาท/คน/เดือน ทั้งนี้ การจ่ายเงินลงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ถึง มีนาคม 2562 โดยงวดแรกจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ผู้มีสิทธิสามารถถอนเงินที่โอนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเงินสดได้ผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย และสาขาของธนาคารกรุงไทย ทั่วประเทศ
สำหรับ โครงการสำคัญตามยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ.2560-2564 โครงการ Flagship 2 : การให้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ได้มีการจัดทำหนังสือต่อกรมสรรพากร เรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมรายชื่อหน่วยงานของ พม. ที่สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ ซึ่งกรมสรรพากรได้ประกาศหน่วยรับบริจาค พม. ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ทางเว็บไซด์
http://www.rd.go.th/publish เรียบร้อยแล้ว เป็นจำนวน 171 หน่วยงาน ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถร่วมบริจาคตามช่องทาง ดังนี้ 1) ศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. ณ บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี โทร. 02-306-8874 ต่อ 5 หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ทั่วประเทศ 2) โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี "ศูนย์รับบริจาคกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” สาขาสะพานขาว เลขที่บัญชี 021-0-21170-9 3) บริจาคเงินผ่านการสแกน Krungthai QR Code ในระบบ E-Banking และ 4) บริจาคผ่านแอพพลิเคชั่น True Money Wallet
อีกทั้ง โครงการเมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กำหนดการเข้าถึงบริการทางสังคมของคนพิการ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ประกอบกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป และแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม (EQUAL) เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิได้จริและการดำรงชีวิตอิสระในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการล่าสุด เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่า คนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,022,481 คน (ชาย 1,059,198 คน และ หญิง 963,283 คน) มีการแบ่งคนพิการออกเป็น 1) วัยเด็กและวัยศึกษา (แรกเกิด – 14 ปี) ร้อยละ 4.07 2) วัยทำงาน (อายุ 15-60 ปี) ร้อยละ 43.41 และ 3) วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 52.52 ทั้งนี้ ยังพบว่า ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย มีจำนวนมากที่สุด ถึงร้อยละ 49.68 รองลงมา คือ ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ร้อยละ 18.40 และทางการเห็น ร้อยละ 10.03 ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนพิการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 100,000 คน ประกอบกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยในระยะ 20 ปี ข้างหน้า คือ สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุมีอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 17.13 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 30.18 ในปี 2579 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดสวัสดิการสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง รวมทั้งเตรียมความพร้อมประชากรทุกกลุ่มวัยเพื่อการเข้าถึงอย่างมีคุณภาพ สำหรับปี 2562 กระทรวง พม. โดย พก. มุ่งผลักดันและยกระดับพื้นที่จังหวัดต้นแบบการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคนในสังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์ EQUAL ยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม จึงจัดทำโครงการเมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน โดยยึดหลัก Smart Living และ Smart Service ด้วยเป้าหมายอย่างครอบคลุมในพื้นที่ 6 ภาค และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในรูปแบบประชารัฐเพื่อสังคม เพื่อให้คนพิการและทุกคนในสังคมสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีอิสระ ไร้อุปสรรคในการดำรงชีวิต
นอกจากนี้ การจัดระเบียบในพื้นที่สวนลุมพินี ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา และได้สั่งการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลและจัดระเบียบคนเร่ร่อนที่ใช้พื้นที่สวนสาธารณะเป็นที่พัก พร้อมมอบหมายกรุงเทพมหานคร ไปดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนลุมพินีใหม่ ดูแลในเรื่องของที่จอดรถ เพื่อให้เป็นระเบียบและอำนวยความสะดวกประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จึงได้บูรณาการจัดระเบียบในพื้นที่สวนลุมพินี ร่วมกับมูลนิธิอิสรชน กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) กรุงเทพมหานคร ตำรวจ สน.สวนลุมพินี สำนักดูแลสวนสาธารณะ เทศกิจ และบ้านมิตรไมตรีกรุงเทพมหานคร โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดการประชุมเพื่อจัดทำแผนจัดระเบียบในพื้นที่สวนลุมพินี ด้วยการบูรณการ การทำงาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กร และภาคีเครือข่ายในการทำงาน และในวันนี้ (11 ต.ค.61) ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจในสวนลุมพินี ทั้งในด้านข้อมูลทั่วไป สภาพปัญหา และความต้องการ ตลอดจนวัตถุประสงค์ในการใช้บริการในสวนลุมพินี เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประสบปัญหาทางสังคมตามภารกิจต่อไป