Krungthai Macro Research ประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง แม้ IMF จะปรับลดศก.โลกลงเหลือ 3.7% จาก 3.9% ปีนี้-ปีหน้า มองอัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณเร่งตัวเพิ่มขึ้น คาดธปท.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2% ปีหน้า
Krungthai Macro Research ประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง แม้ IMF จะปรับลดศก.โลกลงเหลือ 3.7% จาก 3.9% ปีนี้-ปีหน้า มองอัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณเร่งตัวเพิ่มขึ้น คาดธปท.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2% ปีหน้า เตือนนักลงทุนระวังความเสี่ยงค่าเงินบาทอ่อนระยะสั้น จากตลาดหุ้นผันผวน
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) เดือนตุลาคมปี 2018 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า IMF มองเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่ารายงานเมื่อเดือนเมษายน โดยปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 4.6% จากเดิม 3.9% ซึ่งใกล้เคียงกับ Krungthai Macro Research ที่คาดปีนี้เติบโต 4.5% อย่างไรก็ตาม IMF ประเมินปีหน้าไทยเติบโต 3.9% ในขณะที่ Krungthai Macro Research มองปีหน้าเติบโต 4.3%
“IMF กังวลกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies) เป็นพิเศษ จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ แต่เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่า EM ด้วยกันมาก เราจึงมองผลลบต่อเศรษฐกิจไทยไม่รุนแรงเท่า IMF”
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวว่า IMF พบว่าอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางขาขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Emerging Market สะท้อนให้เห็นว่า ระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวมากกว่าที่คาด ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทย เพิ่งเริ่มต้นเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ทำให้ Krungthai Macro Research คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ระดับ 2.00% ในปีหน้า
ขณะที่ประเมินตลาดเงินและตลาดทุนว่า สำหรับตราสารหนี้ไทย มองว่าอัตราผลตอบแทน(Yield) ของพันธบัตรไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยความเสี่ยงเงินเฟ้อ และตามทิศทางพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี(US Treasury) ที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นในปีหน้า สู่ระดับ 3.5% หรือมากกว่านั้นจากประมาณ 3% ในตอนนี้ ขณะที่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย อ้างอิงพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปีของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.88% เพิ่มขึ้น 0.34% จากต้นปี ซึ่ง Bond Yield ที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้เช่นกัน
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวต่อไปว่า ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางปรับตัวแข็งค่าในปีหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากสภาพคล่องที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย แต่การแข็งค่าจะถูกจำกัดด้วย 3 ปัจจัยคือ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ไม่ดีเท่าปีนี้ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงในระยะนี้ Krungthai Macro Research แนะนำนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ระมัดระวังความเสี่ยงจากค่าเงินบาทอ่อน จากภาวะตลาดโลกที่มีการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงลง ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้งการเมืองของสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์
โทร. 0-2208-4178