ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าปัจจุบันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น จากสถิติของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ทุกๆ 1 นาทีจะมีคนไทยได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน และทุกๆ ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตถึง 2 คน บนถนนประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากหลายๆ ปัจจัย โดยกลุ่มเยาวชนถือเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนั้นจากข้อมูลของสำนักงาน คปภ. เทียบกับข้อมูลจำนวนรถจดทะเบียนสะสมจากกรมขนส่งทางบกพบว่าเมื่อสิ้นปี 2560 มีจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนทั้งสิ้น 38,308,763 คัน แต่มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. ที่มีผลบังคับเพียง 31,071,319 กรมธรรม์ เท่ากับว่ามีรถที่ไม่ได้ทำ ประกันภัย พ.ร.บ. ถึง 7,237,444 คัน ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไว้เอง ดังนั้น ภารกิจสำคัญของ สำนักงาน คปภ. คือการเร่งรณรงค์และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการประกันภัย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงภัยให้แก่ตนเองและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัย พ.ร.บ.
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คปภ.
สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย พ.ร.บ. และร่วมกันแสดงความรับผิดชอบที่ดีต่อสังคมผ่านการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยง จึงได้จัดโครงการประกวดสารคดีสั้น ประจำปี 2561 ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ภายใต้แนวคิด “พ.ร.บ. เคียงข้าง..ทุกการเดินทาง” ซึ่งปีนี้ถือได้ว่ามีความพิเศษกว่าในปีที่ผ่านๆ มา เพราะนอกจากจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกวดให้นอกจากนิสิต นักศึกษาแล้ว ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถมีส่วนร่วม และส่งผลงานสารคดีสั้น ความยาว 7-12 นาที เข้าร่วมประกวดได้แล้ว สำนักงาน คปภ. ยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับ จส.100 ในการดำเนินโครงการประกวดสารคดีในครั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับการประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย พ.ร.บ. ให้สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ใช้ถนนใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปร่วมส่งผลงานเข้าประกวดได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้ โดยจะสมัครเดี่ยวหรือเป็นทีมก็ได้ ซึ่งรอบแรกคณะกรรมการจะคัดเลือกจากผลงานร่างบทและสตอรี่บอร์ด โดย 10 ผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนการผลิตสารคดีสั้นผลงานละ 10,000 บาท เพื่อส่งผลงานให้คณะกรรมตัดสินในรอบชิงชนะเลิศ สำหรับรางวัลมีทั้งสิ้น 6 รางวัลประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ จะได้รับโล่รางวัลเกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับ โล่รางวัลเกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 70,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท และรางวัล Popular จะได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดที่ E-mail :
[email protected] หรือส่งทางไปรษณีย์มาที่ สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 วงเล็บมุมซองว่า “ประกวดสารคดีสั้น” ได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ สถานีวิทยุ จส.100 โทร. 1137 หรือ *1808 ตลอด 24 ชั่วโมง
“การประกันภัยรถภาคบังคับ หรือที่เรียกว่า “ประกันภัย พ.ร.บ.” คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะเหตุ ประสบภัยจากรถให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที กรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพ กรณีเสียชีวิต และที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชน ตลอดจนมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการปรับเพิ่มความคุ้มครองการประกันภัยตาม พ.ร.บ. โดยปัจจุบันมีความคุ้มครอง กรณีบาดเจ็บได้รับค่ารักษาพยาบาล จำนวน 80,000 บาท/คน กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ได้รับค่าสินไหมทดแทน จำนวน 300,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ ได้รับค่าสินไหมทดแทน จำนวนระหว่าง 200,000-300,000 บาทต่อคน ค่าชดเชยรายวันจำนวน 200 บาทไม่เกิน 20 วัน สำหรับโครงการประกวดสารคดีสั้นในครั้งนี้ถือเป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงความสำคัญของการประกันภัย พ.ร.บ. ให้ประชาชนในวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถที่ยังละเลยการทำประกันภัย พ.ร.บ. ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และหันมาปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมากขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย