ตามที่ปรากฏคำวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติว่า เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชนและควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่า นั้น
กรมสรรพากรขอเรียน ดังนี้
1. มาตรการช็อปช่วยชาติหรือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม
2. นอกจากนั้น การกำหนดประเภทสินค้า 3 ประเภทยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงคุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังเห็นได้จากแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อสินค้าแต่ละประเภทซึ่งกำหนดไว้ดังนี้
2.1 สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานได้กำหนดว่า วัตถุดิบต้องมาจากยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวมหรือรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง จึงจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น
2.2 สินค้าประเภทหนังสือและ e-Book เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้เคยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการอ่าน
2.3 สินค้า OTOP ได้กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร. 1161 และหากพบเห็นการกระทำใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ขอให้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่างๆ ที่
www.rd.go.th > เมนู “การแจ้งแหล่งภาษี” เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
กรมสรรพากร สำนักงานเลขานุการกรม ส่วนประชาสัมพันธ์
โทร. 0 2272 9529-30 โทรสาร 0 2617 3324
หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร 1161 (RD Intelligence Center)