ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันราคายางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรจึงได้รับผลกระทบ
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง
เริ่มต้นด้วยการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ โดยให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพาราไปผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการใช้งาน เช่น บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคาร ทางเท้า สนามเด็กเล่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางและช่วยให้ชาวสวนยางมีรายได้โดยตรง
ที่สำคัญคือ การสร้างถนนยางพาราในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 75,032 หมู่บ้าน 7,200 ตำบล และสร้างถนนคันคลองชลประทานใน 53 จังหวัด
นอกจากนี้ รัฐบาลเร่งสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวสวนยาง โดยการส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพเป็นแหล่งรับซื้อยางพารา เพื่อการส่งออก
ล่าสุด…ยังได้ผลักดันโครงการสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวสวนยาง ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ โดยจ่ายเงินตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (กรณีมีคนกรีดยาง แบ่งเป็น เจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ถึง กันยายน 2562
ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยลดสต็อกยางโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีความต้องการใช้ยางมาก ก็จะทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ภาพ / ข่าว : กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี