เผยทุกวันนี้สินค้าขายดีส่วนใหญ่เป็นสินค้าในชุมชน เช่น ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา ไข่ไก่ อาหารแปรรูป ผลไม้ และยังมีสินค้าข้ามจังหวัดหรือข้ามภาคมาจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น ระบุหากร้านค้าแบบใช้แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ มีเพิ่มมากขึ้นจะยิ่งช่วยสร้างโอกาสค้าขายให้กับเกษตรกรสินค้าชุมชนได้อีกมาก
นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามผลการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ทั้งแบบใช้เครื่องรูดบัตร (EDC) และแบบใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7 หมื่นร้านทั่วประเทศ โดยพบว่ามีการใช้จ่ายรวมของผู้ถือบัตรแล้วเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการวันที่ 1 ต.ค.2560 จนถึงปัจจุบัน และยอดจำหน่ายสินค้าภายในร้าน พบว่า สินค้าที่ขายดีส่วนใหญ่เป็นสินค้าของเกษตรกร ผู้ผลิตในชุมชน สัดส่วนกว่า 50% ซึ่งได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าชุมชนมากกว่า 25,000 ล้านบาท สร้างความเข็มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
สำหรับสินค้าที่จำหน่ายได้ดี และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ ข้าวสาร ข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งมีทั้งที่แบ่งขาย หรือเป็นยี่ห้อจากผู้ผลิตชุมชน โดยปัจจุบันเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่ง มียอดจำหน่ายสูงสุดในบรรดาสินค้าที่อยู่ในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่ขายดีรองลงมา ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลผลิตทางการเกษตร อาหารแปรรูป เช่น กะปิ น้ำปลา น้ำพริก หอมแดง กระเทียม และผลไม้ เช่น สับปะรด ลำไย มะพร้าว เป็นต้น
นอกจากนี้สินค้าที่ขายดี ซึ่งเดิมเคยขายอยู่แค่ในจังหวัด หรือแค่ในภาคใดภาคหนึ่ง แต่ปัจจุบันได้ใช้กลไกร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เข้ามาช่วยเป็นที่ขายสินค้า ทำให้มีสินค้าข้ามจังหวัดหรือข้ามภาคมาจำหน่าย และได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เช่น ลำไยจากภาคเหนือ เอาไปจำหน่ายที่ภาคใต้ ลองกองจากภาคใต้ เอาไปจำหน่ายภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กะปิ จากกระบี่ พังงา ภูเก็ต เอาไปขายยังภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งรัดเพิ่มจำนวนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐแบบใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ” เพื่อเพิ่มทางเลือกในการซื้อสินค้าให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีอยู่ 14.5 ล้านราย โดยหากมีจำนวนร้านค้าแบบใช้แอปฯ ถุงเงินประชารัฐเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายมากกว่า 100,000 ราย ก็จะช่วยให้สินค้าจากเกษตรกร สินค้าชาวบ้าน มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีก เพราะสินค้าที่ร้านค้าแบบใช้แอปฯ ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น หมู ไก่ ผัก ปลา ผัก ผลไม้ สินค้าชุมชน อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง เป็นต้น
“ลองคิดดูว่า ในแต่ละเดือน รัฐบาลได้ใส่เงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนำไปใช้จ่ายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ทั้งแบบมีเครื่องรูดบัตร และแบบใช้แอปฯ ซึ่งเงินเหล่านี้จะกระจายเข้าสู่ร้านค้าในท้องถิ่น ช่วยให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ที่นำมาขายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ขายได้มากขึ้น และในที่สุด ผู้ถือบัตร มีทางเลือกในการซื้อสินค้าได้หลากหลายขึ้น ทั้งของกินของใช้” นายสมศักดิ์กล่าว