นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ "ครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 8) และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 3) ปีการศึกษา 2561"
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ "ครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 8) และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 3) ปีการศึกษา 2561" ในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติการจัดการศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ ด้วยคำสอนพ่อ ครั้งที่ 3 เนื่องในวันครูแห่งชาติ พ.ศ.2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตลอดจนเครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน และเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2562 ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดพิธียกย่องครูดีไม่มีอบายมุข ถือว่าเป็นทิศทางการทำงานที่ดีและเดินมาถูกทางแล้ว เพราะการจะสอนให้เด็กดีหรือทำให้คนเป็นคนดีได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ "การเป็นตัวอย่างที่ดี" การทำให้ดู หรือการแสดงออกของครูและพ่อแม่ผู้ปกครองให้เด็กได้เห็นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถือเป็นคำสอนที่น่าเชื่อถือมากที่สุด หากแต่เพียงพูดสอนอย่างเดียว คงจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะนอกจากเด็กจะไม่มีความเชื่อถือแล้ว ในที่สุดก็จะไม่เกิดการกระทำตามคำสอนนั้นด้วย
ในส่วนของการทำให้สถานศึกษาปลอดเหล้าและบุหรี่ เป็นนโยบายที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับมีกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว โดยผู้บริหารและครูควรเป็นตัวอย่างที่ดี พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ให้ความสำคัญคนหรือตัวอย่างที่ไม่ดีต่าง ๆ ด้วย
ทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับครูและโรงเรียนที่ได้รับรางวัลอีกครั้ง โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมการรับโล่ประกาศเกียรติคุณ รวมทั้งสิ้น 356 คน แบ่งเป็น ครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 8) จำนวน 319 คน ได้แก่
- ระดับบุคลากรเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 21 คน
- ระดับผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 83 คน
- ระดับครูผู้สอน จำนวน 215 คน
และโล่ประกาศเกียรติคุณโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 3) จำนวน 37 โรงเรียน โดยขอให้ช่วยกันรักษาความดีที่น่าภาคภูมิใจนี้ไว้ และต่อยอดสิ่งดีให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ส่วนข้อเสนอของตัวแทนครูดีไม่มีอบายมุข เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขให้ประเทศนั้น มีหลายส่วนเป็นแนวคิดที่ดีและควรดำเนินการให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสร้างทัศนคติที่ดี การเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้น ซึ่งจะได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนต่อไป
ดร.จีรวรรณ คุ้มพร้อม ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 8) เป็นตัวแทนกล่าวและยื่นข้อเสนอให้เกิดการจัดการศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขให้ประเทศ ตามปณิธานครูดีไม่มีอบายมุขและโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข 4 ภาค จำนวน 6 ข้อ ดังนี้
1) กำหนดเป็นคุณสมบัติสำหรับผู้เป็นครู ให้เป็นผู้ปลอดอบายมุข เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่เล่นการพนัน เป็นต้น
2) กำหนดเป็นเกณฑ์ในการประเมินครูผู้ช่วย ประเมินเลื่อนเงินเดือน และวิทยฐานะ
3) สนับสนุนโครงการครูดีไม่มีอบายมุข มีจำนวนมากขึ้น โดยมีหน่วยงานหรือกลุ่มงานใน ศธ.รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ต่อเนื่อง
4) มอบทุนการศึกษาแก่บุตรครู และนักเรียนที่พ่อแม่ไม่ดื่ม ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีอบายมุข เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
5) ผู้นำระดับสูงของระบบการศึกษาเป็นตัวอย่างและแบบอย่างที่ดีให้ครู และนักเรียนทั้งประเทศ
6) พัฒนาให้เกิดหลักสูตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุข เป็นรากฐานชีวิตต่อเนื่องให้กับนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันเราพบปัญหาเยาวชนที่เป็นนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ ที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของคุณครูเป็นผู้ดูแลในบ้านหลังที่ 2 เนื่องจากปัญหาเหล้า บุหรี่ เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องร่วมมือแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นประตูนำเยาวชนไปสู่สิ่งเสพติดที่ร้ายแรงขึ้น และมีผลงานวิจัยรองรับอย่างชัดเจน มิเช่นนั้นประเทศเรา จะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศไปกับน้ำเมาจำนวนมาก นอกจากนี้ ครูยังมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนโดยรอบโรงเรียนให้ปลอดภัยจากน้ำเมามากขึ้น อาทิ ให้นักเรียนชวนพ่อแม่เลิกเหล้า ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าได้ผลดีที่สุด
Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร