“Clear Cut ชัดเจนกับยื่นแบบฯ 90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต”
1. การลงทะเบียน
Q1 :
บุคคลต่างด้าวมีเลข 13 หลัก ตามที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออกให้ ซึ่งไม่ใช่เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน สามารถนำเลขดังกล่าวมาลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่
A1 :
การลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ต้องใช้เลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser ID) หากไม่มีเลขดังกล่าว ไม่สามารถลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้
Q2 :
ลงทะเบียนยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ระบบแจ้งว่า “E-mail ไม่ถูกต้อง” ถ้าไม่ระบุ E-mail ได้หรือไม่
A2 : ไม่ต้องระบุE-mail ได้
Q3 :
หลังจากที่ได้ยืนยันการลงทะเบียนไปแล้ว สามารถแก้ไขข้อมูลการลงทะเบียนได้หรือไม่
A3 : ไม่สามารถแก้ไขรายการที่ลงทะเบียนได้ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนชื่อ – นามสกุล ที่อยู่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองตอนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ในส่วนของข้อมูลผู้มีเงินได้
Q4 :
การลงทะเบียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต มีอายุกี่ปี
A4 : หากลงทะเบียนได้รับหมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านแล้ว สามารถใช้ได้โดยไม่มีกำหนดอายุ
Q5 :
ถ้ามีการลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาไม่ประสงค์ที่จะยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตแล้ว จะต้องแจ้งยกเลิกการยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่
A5 : ไม่ต้องแจ้งยกเลิก
Q6 :
บุคคลที่มีบัตรประชาชนตลอดชีพ โดยไม่มีเลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser IDนั้น สามารถลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่
A6 : การลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ต้องใช้เลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser ID) หากไม่มีเลขดังกล่าว ไม่สามารถลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ ให้ติดต่อที่สำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอออกบัตรประชาชนใบใหม่ ที่มีเลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser ID)
Q7 :
ระบบแจ้งเลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser ID) ไม่ถูกต้อง จะต้องดำเนินการอย่างไร
A7 : 1 .ตรวจสอบบัตรประชาชนที่ใช้ต้องเป็นบัตรใบล่าสุด และเป็นบัตรที่ยังไม่หมดอายุ
2. ตรวจสอบการกรอกข้อมูล ว่าได้กรอกข้อมูลตามที่ปรากฏหลังบัตร โดยพิมพ์ตัวอักษร 2 หลัก และตามด้วยตัวเลข 10 หลัก โดยไม่ต้องกรอกขีดหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วยังไม่สามารถดำเนินการได้ แนะนำให้ติดต่อสอบถามที่สำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อตรวจสอบ
Q8 :
กรณีมีการลงทะเบียนยื่นแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่จำรหัสผ่านไม่ได้ สามารถลงทะเบียนใหม่ได้หรือไม่
A8 : ไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ กรณีจำรหัสผ่านไม่ได้ ให้เข้าสู่ระบบที่เมนู “ลืมรหัสผ่าน”
Q9 :
บุคคลธรรมดาต่างด้าว (ชาวต่างชาติ) ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน จะสามารถลงทะเบียนยื่นแบบฯผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่
A9 : บุคคลธรรมดาต่างด้าว (ชาวต่างชาติ) ต้องดำเนินการขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ณ สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานประจำตั้งอยู่ก่อน จึงจะสามารถลงทะเบียนยื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ตได้
Q10 :
ลงทะเบียนและยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.91 ไปแล้ว ในปีภาษีถัดไป จะยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 จะต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่
A10 :ไม่ต้องทำการลงทะเบียนใหม่ สามารถใช้หมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่านเดิมเข้าระบบยื่นแบบได้
Q11 :
กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ต้องการลงทะเบียนยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตในช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ต้องกรอกเลขของใคร
A11 : ให้กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ที่ต้องการลงทะเบียน
Q12 :
เมื่อทำการลงทะเบียนแล้ว จะทราบได้อย่างไรว่า ลงทะเบียนสำเร็จ
A12 : เมื่อยืนยันการลงทะเบียนแล้ว จะปรากฏหน้าจอ “การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการยื่นแบบผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเสร็จสมบูรณ์แล้ว” ควรจำรหัสผ่าน คำถาม-คำตอบกรณีลืมรหัสผ่านไว้ เพื่อประโยชน์ในการใช้รหัสผ่านดังกล่าวเข้ายื่นแบบ การพิมพ์แบบหรือใบเสร็จรับเงิน หรือใช้ในกรณีที่ท่านลืมรหัสผ่าน
Q13 :
เมื่อทำการลงทะเบียนแล้ว ระบบแจ้งว่าชื่อ-นามสกุล หรือ ชื่อคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองมรดกที่ยังมิได้แบ่งไม่ถูกต้อง
A13 : 1. กรณีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หากกรอกข้อมูลชื่อถูกต้องแต่ระบบยังคงแจ้งว่าไม่ถูกต้อง ให้ติดต่อสำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อตรวจสอบข้อมูลในฐานทะเบียนราษฎร์
2. กรณีคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง หากกรอกข้อมูลถูกต้องแต่ระบบยังคงแจ้งว่าไม่ถูกต้อง ให้ติดต่อศูนย์สารนิเทศสรรพากร 1161
Q14 :
เมื่อทำการลงทะเบียนแล้ว ระบบแจ้งว่าวันเดือนปีเกิดไม่ถูกต้อง
A14 : กรณีกรอกข้อมูลวันเดือนปีเกิดถูกต้องแต่ระบบยังคงแจ้งว่าไม่ถูกต้อง ให้ติดต่อสำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อตรวจสอบข้อมูลในฐานทะเบียนราษฎร์
Q15 :
ชาวต่างชาติลงทะเบียนยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบแจ้งว่า ชื่อ หรือวัน/เดือน/ปีเกิด ไม่ถูกต้อง
A15 : ให้ยื่นแบบ ล.ป.10.1 ณ สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่
หรือสำนักงานประจำตั้งอยู่ก็ได้ โดยแนบภาพถ่ายหนังสือเดินทางพร้อมบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรฉบับเดิม(ถ้ามี)
Q16 :
ลืมรหัสผ่านและไม่สามารถขอรหัสผ่านได้เนื่องจากระบบแจ้งเลข error Laser ID ไม่ถูกต้อง
A16 : ให้ติดต่อสำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อตรวจสอบข้อมูล หากไม่ถูกต้องให้ทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่
Q17 :
กรณียื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตของบุคคลธรรมดา แต่ลงทะเบียนผิดช่องทางเป็นสมัครสมาชิกนิติบุคคล สามารถแก้ไขได้อย่างไร
A17 : สามารถลงทะเบียนยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตของบุคคลธรรมดาใหม่ได้เลยที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
www.rd.go.th เลือก “ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต” เมนู Hotlink เลือก “ยื่นแบบฯภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี....”
2. การยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91
Q1 :
คำนำหน้าชื่อ ชื่อ-นามสกุล หากไม่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร
A1 : ให้แก้ไขคำนำหน้าชื่อ ชื่อ นามสกุลให้ถูกต้องก่อน โดยคลิกที่ แก้ไขชื่อ-นามสกุล
Q2 :
ชาวต่างชาติหากพบว่าสะกดชื่อ-นามสกุลไม่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร
A2 : สามารถแก้ไขให้ถูกต้องในขณะที่ยื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ต โดยคลิกที่ แก้ไขชื่อ-นามสกุล
Q3 :
ต้องกรอกที่อยู่ตามทะเบียนบ้านหรือไม่
A3 : ให้กรอกตามที่อยู่ปัจจุบันที่สามารถติดต่อได้สะดวก โดยคลิกที่ แก้ไขที่อยู่
Q4 :
ต่างชาติมีเงินได้ ต้องกรอกที่อยู่อย่างไร
A4 : ให้กรอกตามที่อยู่ปัจจุบันที่สามารถติดต่อได้สะดวก อาจเป็นที่ทำงาน หรือที่พักอาศัยก็ได้
Q5 : หากสมรสแล้วหย่า หรือคู่สมรสเสียชีวิต ต้องเลือกสถานภาพหม้ายหรือโสด
A5 : ให้เลือกสถานภาพหม้าย
Q6 :
กรณีคู่สมรสมีเงินได้ที่ต่างประเทศ สถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรสเลือกอย่างไร
A6 : สถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรสให้เลือก คู่สมรสไม่มีเงินได้ และกรอกเลขที่หนังสือเดินทาง สัญชาติ ประเทศ
Q7 :
สามีเป็นผู้มีเงินได้ ภริยามีเงินได้ ม.40(1)-(8) สถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรสต้องการนำเงินได้มาตรา 40(1) ยื่นรวมกับสามี แต่นำเงินได้มาตรา 40(2)-40(8) ไปแยกยื่นแบบได้หรือไม่
A7 : ไม่สามารถทำได้ สถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรส สามารถเลือกเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(1)แยกคำนวณได้เท่านั้น
Q8 :
สามีเป็นผู้มีเงินได้ ภริยามีเงินได้ตามมาตรา 40(2)-(8) สถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรสต้องการนำเงินได้ตามมาตรา40(2)-40(4) ยื่นรวมกับสามี และแยกยื่นเงินได้ตามมาตรา 40(5)-40(8) ต้องเลือกอย่างไร
A8 : ไม่สามารถทำได้ สถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรสหากมีเงินได้ตามมาตรา 40(2)-40(8) ต้องเลือกนำเงินได้ตามมาตรา 40(2)-40(8) แยกคำนวณหรือรวมคำนวณกับสามีเท่านั้น
Q9 :
หากมีเงินได้ตามมาตรา 40(1) และ 40(8) ต้องยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.91 หนึ่งฉบับ และแบบฯ ภ.ง.ด.90 อีกหนึ่งฉบับ หรือไม่
A9 : ให้นำเงินได้มาตรา40(1) กับ มาตรา 40(8) กรอกในแบบ ภ.ง.ด.90 เพียงฉบับเดียว
Q10 :
หากยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ทางอินเทอร์เน็ตไปแล้ว แต่แสดงเงินได้ไม่ครบถ้วนหรือกรอกข้อมูลผิดพลาดต้องทำอย่างไร
A10 : 1. กรณีที่ขอคืนภาษี ให้ยื่นแบบเพิ่มเติมโดยกรอกรายการใหม่ทั้งหมด
2. กรณีที่มีภาษีต้องชำระ แต่ยังไม่ได้ชำระเงิน สามารถยกเลิกแบบได้ที่หน้าค้างชำระภาษี
3. กรณีที่มีภาษีต้องชำระ และชำระเงินแล้ว ให้ยื่นแบบเพิ่มเติมโดยกรอกรายการใหม่ทั้งหมด หากมีภาษีที่ต้องชำระสามารถนำเงินที่ชำระในแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ฉบับแรกหักออกก่อน และชำระเพิ่มเฉพาะส่วนที่ชำระขาดไป
Q11 :
กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ลืมคำถามคำตอบ และเลือก ขอรหัสผ่านใหม่ แต่จำหมายเลขโทรศัพท์ไม่ได้ ระบบไม่ยอมให้ขอรหัสผ่านใหม่ ต้องทำอย่างไร
A11 : ทดลองกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเคยใช้ตั้งแต่เปิดกิจการมา หากยังไม่ได้ ต้องยื่นแบบฯ ด้วยกระดาษเท่านั้น
Q12 :
ลงทะเบียนยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่จำรหัสผ่านไม่ได้และลืมคำถาม - คำตอบที่ได้เลือกไว้ จะขอรหัสผ่านใหม่ได้หรือไม่
A12 : กรณีลืมรหัสผ่านและลืม “คำถาม-คำตอบ” ที่ได้เลือกไว้ ขอให้เข้าสู่ระบบ "ขอรหัสผ่านใหม่" ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
www.rd.go.th >“บริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต” >ยื่นแบบออนไลน์ >ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 =>ลืมรหัสผ่าน >เลือกประเภทการลงทะเบียน (เพื่อตั้งรหัสผ่านใหม่)>ขอรหัสผ่านใหม่
3. การบันทึกเงินได้
Q1 :
การเลือกประเภทเงินได้ตามมาตรา 40(1) กรณีนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่ออกจากงาน ที่มีระยะเวลาการทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ต้องเลือกประเภทเงินได้อย่างไร
A1 : ให้เลือกเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีไม่นำไปรวมคำนวณภาษี
Q2 :
หากผู้มีเงินได้เลือกรายการประเภทเงินได้พึงประเมินและค่าลดหย่อนไว้ไม่ถูกต้อง และยังยื่นแบบไม่สำเร็จจะแก้ไขได้หรือไม่
A2 : สามารถแก้ไขเพิ่ม/ลด รายการได้ โดยเลือกแถบเมนูที่ 2 เลือกเงินได้/ลดหย่อน
Q3 :
กรณียื่นแบบฯภ.ง.ด.90 และมีเงินได้จาก 40(4)(ข) อัพโหลดข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ ต้องทำอย่างไร
A3 : ระบบจะขึ้นข้อความแจ้งเตือน และแนะนำในกรณีต่างๆ กรณีที่ข้อมูลเงินปันผลที่แสดงไม่ถูกต้องให้ติดต่อศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD)
Q4 :
หากไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายต้องกรอกข้อมูลอย่างไร
A4 : ให้ใส่เลขศูนย์ในช่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย
Q5 :
กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ ระบบแจ้งว่าท่านบันทึกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (13 หลัก) ของผู้จ่ายเงินได้ซ้ำกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้มีเงินได้
A5 : ให้กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
Q6 :
กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ ระบบแจ้งว่าท่านบันทึกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรไม่ครบ 13 หลัก
A6 : ให้กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
Q7 :
หากมีผู้จ่ายเงินได้มากกว่า 1 ราย ต้องกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินได้อย่างไร
A7 : กรณีได้รับเงินได้จากผู้จ่ายเงินได้มากกว่า 1 ราย ให้กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้รายที่ได้รับเงินได้มากที่สุด
Q8 :
ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 กรณีอายุ 65 ปี ได้รับยกเว้น 190,000 บาท ระบบจะเปิดช่องข้อมูลให้กรอกอัตโนมัติหรือไม่อย่างไร
A8 : ระบบจะเปิดช่องให้อัตโนมัติ
Q9 :
กรณีผู้มีเงินได้อายุ 65 ปีขึ้นไป กรอกจำนวนเงินได้แล้วระบบขึ้นข้อความแจ้งเตือนว่าท่านบันทึกเงินได้เกินสิทธิที่ได้รับยกเว้น
A9 : ผู้มีเงินได้จะได้รับยกเว้นเงินได้พึงประเมินไม่เกินส่วนที่ตนได้รับแต่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น
4. ค่าใช้จ่าย
Q1 :
กรณีมีเงินได้ตามมาตรา 40(8) ตรวจสอบการหักค่าใช้จ่าย 43 รายการ ไม่พบเงินได้ที่ประกอบกิจการอยู่ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายอย่างไร
A1 : รายการเงินได้พึงประเมิน 40(8) เลือกเงินได้จาก “เงินได้อื่นๆ” พร้อมกรอกรายละเอียดค่าใช้จ่ายตามจริง
Q2 :
ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 มีเงินได้ตามมาตรา 40(8) ถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 60 จะกรอกข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอย่างไร
A2 : หากต้องการหักค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้เลือกหักค่าใช้จ่ายจริง พร้อมกรอกรายละเอียดค่าใช้จ่ายตามเอกสารหลักฐาน เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน
Q3 :
กรณีสามีและภริยาร่วมกันประกอบกิจการร้านค้า โดยประสงค์ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 รวมกันในนามของสามี แต่ในการกรอกแบบฯ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ระบบให้ระบุสัดส่วนเงินได้ร้อยละของทั้งสามีและภริยา อยากทราบว่า จะต้องระบุสัดส่วนเงินได้ร้อยละอย่างไร
A3 : กรณียื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ตระบบจะให้เลือกสัดส่วนเงินได้ร้อยละ โดยให้ท่านพิจารณาตามสัดส่วนเงินได้ที่ตกลงกัน เช่น หากตกลงแบ่งรายได้กันคนละครึ่ง ให้ระบุสัดส่วนเงินได้เป็น 50 : 50 หรือหากรายได้ดังกล่าวเป็นของสามีเพียงฝ่ายเดียว ก็ให้เลือกสัดส่วนเงินได้ของสามีเป็นร้อยละ 100
5. ค่าลดหย่อน
Q1 :
ผู้มีเงินได้เป็นชาวต่างชาติ อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน จะใช้สิทธิลดหย่อนอุปการะบิดามารดา (ต่างชาติ) ซึ่งไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก ของบิดามารดา ระบบไม่รับจะแก้ปัญหาอย่างไร
A1 : ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ ต้องทำการยกเลิกรายการลดหย่อน
Q2 :
หากมีเบี้ยประกันชีวิตกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ จะกรอกอย่างไร
A2 : กรอกช่องประกันชีวิตให้เต็ม 100,000บาทก่อน แล้วส่วนที่เหลือกรอกช่องประกันชีวิตแบบบำนาญ (ต้องไม่เกินสิทธิที่กฎหมายกำหนด)
Q3 :
จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต 70,000 บาท ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 150,000 บาท จะกรอกรายการลดหย่อนยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร
A3 : กรอกรายการลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท และกรอกรายการลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 120,000 บาท
Q4 :
จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต 150,000 บาท สามารถกรอกรายการลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท และกรอกรายการลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญอีก 50,000 บาท ได้หรือไม่
A4 : ไม่ได้ เนื่องจากค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ได้เพิ่มขึ้นต้องเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเท่านั้น หากเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
Q5 :
ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตคู่สมรส กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ และอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ต้องกรอกรายการอย่างไร
A5 : กรณียื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ทางอินเทอร์เน็ต สามารถกรอกรายการลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแยกของผู้มีเงินได้ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท และของคู่สมรสไม่มีเงินได้ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท
Q6 :
การยื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ต กรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติไม่มีเงินได้ในไทย ต้องกรอกข้อมูลคู่สมรสอย่างไร
A6 : เลือกสถานะคู่สมรสไม่มีเงินได้และกรอกเลขที่หนังสือเดินทาง
Q7 :
ลดหย่อนประกันสังคมคู่สมรสไม่มีเงินได้ สามารถกรอกรายการใช้สิทธิในแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 ทางอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่
A7 : สามารถกรอกสิทธิลดหย่อนประกันสังคมของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
Q8 :
กรอกจำนวนเงินลดหย่อนแล้วระบบขึ้นข้อความแจ้งเตือนว่า ท่านบันทึกเกินสิทธิที่ได้รับลดหย่อน
A8 : ให้กรอกข้อมูลจำนวนเงินลดหย่อนไม่เกินสิทธิที่กฎหมายกำหนด
Q9 :
ลดหย่อนบิดามารดาระบบขึ้นข้อความแจ้งเตือนว่า เลขประจำตัวประชาชนบิดามารดาไม่ตรงกับข้อมูลของกรมสรรพากร
A9 : ให้ติดต่อสอบถามที่สำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อตรวจสอบข้อมูล หากมีการแก้ไขข้อมูลให้ส่งหลักฐานมายังกรมสรรพากร
6. การชำระภาษีและผ่อนชำระ
Q1 :
ยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต มีช่องทางการชำระภาษีใดบ้าง
A1 : 1. ชำระภาษีผ่าน e-Payment หมายถึง การชำระผ่านช่องทาง Internet Credit Card, ATM on Internet โดยสามารถทำรายการผ่านจากระบบไปสู่หน้าจอของธนาคารได้
2. ชำระภาษีช่องทางอื่น หมายถึง การชำระผ่านช่องทาง ATM, Tele Banking, Phone Banking, Internet Banking, Mobile Banking, Counter Service (ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ, 7-Eleven, Tesco Lotus, ไปรษณีย์) โดยการพิมพ์ Pay-in-Slip ซึ่งระบุรายละเอียดเลขประจำตัวประชาชน/เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (13 หลัก), รหัสควบคุม (15 หลัก) และจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ไปชำระภาษีตามช่องทางที่ประสงค์จะชำระ
3. ชำระภาษีผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยชำระเป็นเงินสดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเครดิต บัตรเดบิต Tax Smart Card) อย่างใดอย่างหนึ่ง และชำระทั้งจำนวนตามชุดชำระเงิน (Pay-in Slip)
Q2 :
ประสงค์จะชำระผ่านบัตรเครดิต ต้องเลือกช่องทางใด
A2 : เลือกเครดิตบนอินเทอร์เน็ต
Q3 :
ประสงค์จะชำระโดยทำรายการตัดรายการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่สามารถทำรายการลิงค์หน้าจอต่อไปได้ ต้องทำอย่างไร
A3 : ให้เลือกเป็นช่องทางอื่น พิมพ์ Pay-in Slip แล้วเข้าผ่านเว็บไซต์ของธนาคารโดยตรงแล้วนำข้อมูล Pay-in Slip ไปทำรายการต่อ
Q4 :
เมื่อเข้าหน้าจอให้เลือกช่องทางการชำระ แต่ยังไม่ต้องการชำระทันทีต้องทำอย่างไร
A4 : ให้เลือกยังไม่ชำระภาษี และเมื่อต้องการชำระให้เลือก ยื่นแบบฯจะปรากฏหน้าจอค้างชำระ คลิกที่เลขที่อ้างอิงจะปรากฏแบบฯ คลิกตกลง แล้วเลือกช่องทางการชำระ
Q5 :
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บในการชำระผ่านช่องทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคาร หรือไปรษณีย์ ใครเป็นผู้เรียกเก็บ
A5 : กรมสรรพากรมิได้เป็นผู้เรียกเก็บ แต่หน่วยรับชำระเป็นผู้เรียกเก็บ ซึ่งสามารถตรวจสอบค่าบริการดังกล่าวได้ที่
www.rd.go.th >เลือกยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต >แนะนำบริการ >แนะนำหน่วยรับชำระภาษี>ช่องทางการชำระภาษี >แล้วคลิกที่หน่วยชำระภาษีที่ต้องการ
Q6 :
ยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตมีช่องทางใด ที่ไม่มีค่าบริการในการชำระภาษีหรือไม่
A6 : 1. ชำระผ่านบัตรเครดิตบนอินเตอร์เน็ต
2. ชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคารทหารไทย
3. ชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
Q7 :
ถ้าทำ Pay-in Slip หายต้องทำอย่างไร
A7 : สามารถเข้ามาทำรายการและพิมพ์ใบ Pay-in Slipใหม่ได้โดยจะได้รหัสควบคุมเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
Q8 :
ถ้าเลือกทำรายการเลือกช่องทางการชำระเงินแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระและต้องการเปลี่ยนช่องทางการชำระเงิน สามารถทำได้หรือไม่
A8 : สามารถดำเนินการได้ โดยเข้าในระบบและเลือกช่องทางการชำระใหม่ได้
Q9 :
ประสงค์ชำระผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ต้องเลือกช่องทางใด
A9 : เลือกช่องทางอื่น แล้วพิมพ์ Pay-in Slip ไปชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
Q10 :
นำ Pay-in Slip ไปชำระที่หน่วยรับชำระ แต่ไม่สามารถชำระเงินได้ ต้องทำอย่างไร
A10 : ให้แจ้งหน่วยรับชำระทำการบันทึกรายการแทนการ Scan Barcode หากยังไม่สามารถทำรายการได้แนะนำให้พิมพ์ใบ Pay-in Slip ใหม่โดยพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ Laser เนื่องจาก Barcode จะชัดเจน และสามารถ Scan ผ่านเครื่องอ่าน Barcode ได้ดีกว่าเครื่อง inkjet
Q11 :
ถ้ายื่นแบบฯ แล้วเลือกเป็นช่องทางผ่อนชำระ แต่ประสงค์จะชำระเต็มจำนวนต้องทำอย่างไร
A11 : หากยังไม่ได้ชำระเงินให้ทำการยกเลิกแบบเดิม แล้วทำรายการใหม่ เลือกไม่ประสงค์ผ่อนชำระ จะสามารถชำระได้เต็มจำนวน
Q12 :
ถ้าเลือกเป็นชำระเต็มจำนวน แต่ต้องการเปลี่ยนเป็นผ่อนชำระต้องทำอย่างไร
A12 : หากยังไม่ได้ชำระเงินให้ทำการยกเลิกแบบเดิม แล้วทำรายการใหม่ เลือกประสงค์ผ่อนชำระ
Q13 :
ทำรายการยื่นแบบฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระ พบว่ารายการไม่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร
A13 : ให้ยกเลิกการยื่นแบบฯ แล้วทำรายการใหม่
Q14 :
การผ่อนชำระ ต้องดำเนินการอย่างไร
A14 : เมื่อยืนยันยื่นแบบแสดงรายการแล้ว หากมีภาษีที่ต้องชำระเกิน 3,000 บาท ระบบจะแจ้งข้อความว่า ประสงค์จะผ่อนชำระหรือไม่ ให้เลือกผ่อนชำระหากต้องการแบ่งจ่ายภาษีเป็น 3 งวดหรือหากประสงค์ชำระเต็มจำนวนให้เลือก ไม่ประสงค์ผ่อนชำระ
Q15 :
การผ่อนชำระภาษี หากงวดที่ 1 ชำระผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา งวดที่ 2 และ 3 ชำระผ่านอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่
A15 : หากงวดที่ 1 ชำระผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแล้ว งวดที่ 2 และ 3 ต้องชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้น ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
Q16 :
ชำระผ่าน Online Payment คือการชำระประเภทใดได้บ้าง
A16 : 1. ชำระบัตรเครดิตบนอินเตอร์เน็ต
2. ชำระ ATM บนอินเตอร์เน็ต
3. ชำระ ผ่าน e-payment โดยต้องติดต่อธนาคาร เพื่อรับรหัสผู้ใช้งาน และรหัสผ่าน เมื่อหน้าจอเข้าสู่ระบบ สามารถทำรายการผ่านหน้าจอได้ทันที
Q17 :
การชำระผ่านช่องทางอื่น สามารถชำระเป็นเช็คได้หรือไม่
A17 : หากประสงค์ชำระด้วยเช็ค ต้องเป็นเช็คของธนาคารสาขาที่เปิดบัญชีและใช้บริการชำระภาษี ณ สาขานั้นๆ โดยระบุผู้รับเงินคือ “กรมสรรพากร”
Q18 :
เลือกชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ต้องการเปลี่ยนช่องทางเป็นทาง ATM ที่ต้องทำรายการเองผ่านหน้าตู้ธนาคาร ต้องทำรายการใหม่หรือไม่
A18 : ไม่ต้อง สามารถนำใบ Pay-in Slip ที่มีรหัสควบคุม ทำรายการผ่านหน้าตู้ ATM ได้ทันที เพราะใช้รหัสควบคุมเดียวกันไม่ต้องเข้าทำรายการใหม่
Q19 :
การผ่อนชำระ สามารถชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาด้วยบัตรเครดิตได้หรือไม่
A19 : ได้สามารถใช้ได้ทั้งเงินสด บัตรเครดิต และบัตรเดบิตการผ่อนชำระภาษีอากร
Q20 :
ทำรายการยื่นแบบฯ เพิ่มเติม ครั้งแรกชำระภาษีแล้ว ครั้งต่อไปต้องเป็นช่องทางเดิมหรือไม่
A20 : สามารถเลือกเปลี่ยนช่องทางได้
Q21 :
สามารถนำ Pay-in Slip ไปชำระเงินที่ Counter Service ใดได้บ้าง
A21 : ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ/7-Eleven/เทสโก้ โลตัส/ที่ทำการไปรษณีย์
7. การพิมพ์แบบ/ใบเสร็จ
Q1 :
กรณียื่นแบบฯ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตสำเร็จแล้วต่อมาต้องการพิมพ์แบบ/ใบเสร็จ เข้าระบบแล้วแต่จำหมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบไม่ได้และบัตรประชาชนเป็นรุ่นเก่า ไม่มีเลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser ID)ทำให้ไม่สามารถพิมพ์แบบและใบเสร็จได้ มีทางเดียวคือยื่นคำร้องขอคัดแบบ จะต้องแก้ปัญหาอย่างไร
A1 : ต้องทำบัตรประจำตัวใหม่ ที่มีเลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน (Laser ID)
Q2 :
พิมพ์แบบแล้วไม่เต็มหน้ากระดาษไม่อยู่แผ่นเดียวกันหรือตกขอบ
A2 : แนะนำให้ตั้งค่า page setup ระบุเป็นเลขศูนย์
Q3 :
พิมพ์แบบ/ใบเสร็จ หน้าเว็บไซต์ไม่ได้ เนื่องจากยื่นแบบผ่านทางสรรพากรพื้นที่สาขา
A3 : หากท่านยื่นแบบฯ กระดาษ จะไม่มีแบบฯ และใบเสร็จในระบบอินเตอร์เน็ตให้ หากต้องการแบบฯ ให้ยื่นคำร้องขอคัดแบบฯ ส่วนใบเสร็จหากได้รับแล้วสูญหาย ให้ติดต่อขอสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเพื่อขอใบแทน