มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ (๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภท หรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ.๒๕๖๑
จากการที่ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมีผลให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับสถานที่ซึ่งถูกกำหนดที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยกำหนดให้พื้นที่และบริเวณทั้งหมด ซึ่งใช้ประกอบภารกิจของสถานที่นั้น ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่จัดไว้ให้ผู้มารับบริการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งระยะ ๕ เมตรจากทางเข้า - ออกของสถานที่ เป็นเขตปลอดบุหรี่ คือ
๑) สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพ
- คลินิก สหคลินิก โรงพยาบาล รวมถึงสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
- คลินิก โรงพยาบาลสัตว์ รวมถึงสถานพยาบาลสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์
- สถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสุขภาพทุกประเภท
๒) สถานศึกษา หรือสถานที่เพื่อการเรียนรู้และฝึกอบรม
- สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน
- สถานศึกษาระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา
- สถานกวดวิชา สถานที่สอนกีฬา ดนตรี ขับร้อง การแสดงศิลปะป้องกันตัว ศิลปะ ภาษา และสถานที่ที่ประกอบกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน
๓) สถานที่สาธารณะอื่น ๆ
- สถานรับดูแลหรือสงเคราะห์เด็ก ผู้เยาว์ หรือสมาคม มูลนิธิ หรือสถานประกอบการในลักษณะเดียวกัน
- สนามเด็กเล่น หรือสถานที่ให้บริการสำหรับเด็กในลักษณะเดียวกัน
ในกรณีสถานที่ข้างต้นมีทางเข้า - ออกอย่างชัดเจน การวัดระยะ ๕ เมตร ให้วัดระยะจากขอบทางเข้า - ออกทั้งสองด้าน ออกไป ๕ เมตร ตามภาพประกอบหมายเลข ๑ (
ในกรณีสถานที่ดังกล่าวไม่มีทางเข้า - ออกอย่างชัดเจน หรือเข้า - ออกได้ทุกทิศทาง การวัดระยะ ๕ เมตร ให้วัดระยะเฉพาะจากขอบทางเข้า - ออกหลักที่ผู้ดำเนินการกำหนดให้เป็นทางเข้า - ออกออกไป ๕ เมตร)
สำหรับการวัดระยะ ๕ เมตร ให้วัดระยะจากพื้นที่ที่ระบุ หรือจากประตู หน้าต่าง ทางเข้า ทางออกท่อหรือช่องระบายอากาศออกไป ๕ เมตร ตามภาพประกอบหมายเลข ๒
ส่วนสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่สามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่ เป็นการเฉพาะได้ ในพื้นที่นอกอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้ คือ
- สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา
- สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- ท่าอากาศยาน
สำหรับสถานที่อื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งยานพาหนะ ขอให้ตรวจสอบจากราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าวได้ที่นี่ click ส่วนหน่วยงานใดที่ต้องการทราบลักษณะและวิธีการในการแสดงเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ click ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท