กรมบัญชีกลางสรุปการใช้จ่ายของผู้มีสิทธิที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายในเดือนมกราคม 62 เป็นเงินกว่า 3,826.6 ล้านบาท
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินสำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิ 14.5 ล้านราย (ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2562) รวมทั้งสิ้นกว่า 3,826.6 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้จ่ายที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ 3,340 ล้านบาท ร้านค้าชุมชนกองทุนหมู่บ้าน 63.07 ล้านบาท ร้านถุงเงินประชารัฐ 348.73 ล้านบาท ร้านก๊าซหุงต้ม 25.12 ล้านบาท รถไฟฟ้า (รฟม.) 4.8 ล้านบาท รถ บขส. 18.1 ล้านบาท รถไฟ 26.36 ล้านบาท และรถ ขสมก. 67,360.50 บาท
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้โอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ของผู้มีสิทธิ โดยโอนเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (50/100 บาทต่อคนต่อเดือน) จำนวน 4,509,666 ราย เป็นเงิน 416.09 ล้านบาท เงินมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ แบ่งเป็น 5% โอนเข้ากระเป๋า e-Money เป็นเงิน 7.6 ล้านบาท และ 1% เพื่อการออม โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน (ผู้มีสิทธิอาชีพอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรและรับจ้างทางการเกษตร) เป็นเงิน 1.37 ล้านบาท บัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. (ผู้มีสิทธิอาชีพเกษตรกรและรับจ้างทางการเกษตร) เป็นเงิน 155,310.06 บาท รวมถึงมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 เป็นเงิน 1,443 ล้านบาท
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวต่อว่า สำหรับการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบ 2 ผ่านทางทีมไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 3,042,735 ราย ผู้มีสิทธิได้มารับบัตรฯ แล้วจำนวน 2,937,331 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.54 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562) ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 - 28 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้มีสิทธิในส่วนภูมิภาคที่ยังไม่ไปรับบัตรจะต้องไปรับบัตรฯ ณ ที่ว่าการอำเภอ สำหรับผู้มีสิทธิในเขตกรุงเทพมหานครต้องไปรับ ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป ผู้มีสิทธิจะต้องไปรับบัตรฯ ณ สำนักงานคลังจังหวัด หรือ กรุงเทพมหานคร ตามที่อยู่ปัจจุบันที่แจ้งไว้ โดยสามารถรับบัตรได้จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2562 หากไม่มารับภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถือว่าสละสิทธิ์ ซึ่งในการขอรับบัตร ให้ผู้มีสิทธินำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงเพื่อรับบัตรด้วยตนเอง หากมอบให้ผู้อื่นมารับบัตรแทน จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้มีสิทธิ ผู้รับมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจที่ได้ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว ซึ่งผู้ที่มารับบัตรทุกกรณีจะต้องลงชื่อเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการรับบัตรด้วย
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้โอนเงินตามมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4 มาตรการ ให้กับผู้ถือบัตรฯ รอบ 2 เรียบร้อยแล้ว โดยโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ดังนี้ มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย (500 บาทต่อคน เพียงครั้งเดียว) ให้กับผู้มีสิทธิจำนวน 3,021,119 ราย เป็นเงิน 1,511 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปีขึ้นไป (1,000 บาทต่อคน เพียงครั้งเดียว) จำนวน 560,946 ราย เป็นเงิน 561 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีภาระค่าเช่าบ้านและไม่มีที่พักอาศัย (400 บาทต่อคนต่อเดือน) จำนวน 19,506 ราย เป็นเงิน 7.8 ล้านบาท