คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี แบบขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป ให้กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ดังนี้
1.1 เด็กที่รับสิทธิ์ในปีงบประมาณ 2559 - 2561 รับต่อเนื่องจนครบอายุครบ 6 ปี
1.2 เด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 ที่มีคุณสมบัติและไม่เคยได้รับสิทธิ์ มีสิทธิ์ได้รับเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จนอายุครบ 6 ปี
1.3 เด็กที่เกิดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ได้รับสิทธิ์จนอายุครบ 6 ปี
2. สำหรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2562 ให้ พม. จัดทำรายละเอียดแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2560 และตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้สำหรับปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป ให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรมกิจการเด็กและเยาวชน) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบการขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่แรกเกิด - 6 ปี แบบขยายฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป ให้กลุ่มเป้าหมายเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จากเดิมที่เป็นการกำหนดการให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิด - 3 ปี เดือนละ 600 บาทต่อคน และอยู่ในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน (ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือนหรือต่ำกว่า 36,000 บาทต่อคนต่อปี โดยนำรายได้ทั้งหมดของสมาชิกในครัวเรือนหารด้วยจำนวนสมาชิกทั้งหมด ซึ่งรวมเด็กแรกเกิดด้วย) โดยมีเหตุผลสำคัญ 2 ส่วน คือ
(1) การขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนฯ ไปจนถึงอายุ 6 ปีเนื่องจากเด็กแรกเกิด - 6 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสมอง ดังนั้น การลงทุนพัฒนาเด็กในช่วงอายุดังกล่าวจึงเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดต่อสังคมในระยะยาวและจากรายงานการติดตามประเมินผลโครงการเงินอุดหนุนฯ ประจำปี 2561 พบว่าเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ ได้รับประโยชน์มากกว่าทั้งในด้านภาวะโภชนาการและการเข้าถึงการบริการทางสังคม เช่น การพาเด็กไปรับบริการตรวจทางการแพทย์หลังคลอด และ
(2) การขยายฐานรายได้ของกลุ่มเป้าหมายการรับเงินอุดหนุนฯ แบบฐานรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี เนื่องจากสอดคล้องกับการใช้ฐานเกณฑ์รายได้ของผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ครอบคลุมเด็กในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจนเพิ่มขึ้นและไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของรัฐในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดประชุมหารือโดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ