คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการและการดำเนินการของมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลาง ปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม และมอบหมายกรมบัญชีกลางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 5 ฉบับ (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง)
3. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) จำนวน 1 ฉบับ (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์)
4. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 (เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี) ในการเสนอเรื่องนี้
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังเสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562
1. มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยดีขึ้นและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 มาตรการเพิ่มเบี้ยคนพิการ
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นคนพิการ และมีบัตรประจำตัว คนพิการ ได้รับเบี้ยคนพิการเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การดูแลสุขภาพและการเดินทางเป็นจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน
2) กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐและเป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวนประมาณ 1,160,000 คน (จากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
3) รายละเอียดมาตรการ : กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ใส่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือน ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture : EDC) แอพพลิเคชันถุงเงินประชารัฐหรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้
4) ระยะเวลามาตรการ : เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2562 ระยะเวลา 5 เดือน
5) งบประมาณ : ประมาณ 1,160 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
1.2 มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยเหลือค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกร ในช่วงที่รายได้เกษตรกรหดตัวอันเนื่องจากปริมาณการผลิตหดตัวและราคาสินค้าเกษตรยังมีความผันผวนสูง เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาทต่อคน (ได้รับครั้งเดียว)
2) กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยระบุว่าเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเท่านั้น (ไม่รวมลูกจ้างภาคเกษตรกรรม) จำนวนประมาณ 4,100,000 คน
3) รายละเอียดมาตรการ : กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ใส่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,000 บาทต่อคน ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ที่จำเป็น ผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติเพื่อชำระค่าสินค้าดังกล่าวได้
4) งบประมาณ : ประมาณ 4,100 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
1.3 มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษา
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาช่วงเปิด ปีการศึกษาเพิ่มเติมจากการช่วยเหลือของกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษา เป็นจำนวน 500 บาทต่อบุตร 1 คน (ได้รับครั้งเดียว)
2) กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ระบุว่ามีบุตรอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ โดยปัจจุบันยังมีอายุไม่เกิน 18 ปี (นับจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2562) และต้องเป็นนักเรียนที่มีรายชื่อในฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ การให้สิทธิจะให้ตามจำนวนบุตรผ่านแม่หรือพ่อที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจำนวนบุตรประมาณ 2,700,000 คน
3) รายละเอียดมาตรการ : กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ใส่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 500 บาทต่อบุตร 1 คน ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติเพื่อชำระค่าสินค้าดังกล่าวได้
4) งบประมาณ : ประมาณ 1,350 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากสังคม
1.4 มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ทรุดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงกลางปี 2562 โดยเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคจำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐ 500 บาทต่อคนต่อเดือน เท่ากันทุกคน (เดิมได้ 300 บาท ให้เพิ่มอีก 200 บาท หรือเดิมได้ 200 บาท ให้เพิ่มอีก 300 บาท) เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยเพิ่มช่องทางในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้ครอบคลุมถึงร้านค้าที่มีเครื่อง EDC และรองรับการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ
2) กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนประมาณ 14,600,000 คน โดยจำแนกเป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจำนวนประมาณ 10,800,000 คน และผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน จำนวนประมาณ 3,800,000 คน
3) รายละเอียดมาตรการ : กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ใส่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่องค่าสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยผู้มีรายได้น้อยที่ได้ 300 บาทต่อคนต่อเดือน ให้เพิ่มอีก 200 บาท ส่วนผู้มีรายได้น้อยที่ได้ 200 บาทต่อคนต่อเดือน ให้เพิ่มอีก 300 บาท เป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน เท่ากันทุกคน โดยให้ใช้ได้ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2562
4) งบประมาณ : ประมาณ 6,600 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
ทั้งนี้ มาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 13,210 ล้านบาท โดยจะมีวิธีการประเมินผลด้วยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการ และมีการวัดความคุ้มค่าด้วยการวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการต่อเศรษฐกิจ ซึ่งการประเมินผลและการวัดความคุ้มค่านี้จะดำเนินการหลังจากมาตรการสิ้นสุดแล้ว เพื่อนำผลสรุปรายงานต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป
2. มาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562
กระทรวงการคลังขอเสนอมาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มการซื้อขายภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชน เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย
1) หลักการ :
1.1) กำหนดให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พัก โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดหลักไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
1.2) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่ถึงรวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พัก โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และค่าที่พักและสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดรองไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
ทั้งนี้ การหักลดหย่อนตาม 1.1) และ 1.2) สามารถหักรวมกันได้ตามจ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายในท้องที่เดียวกัน และเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข :
2.1) จังหวัดหลัก ให้หมายความถึงพื้นที่ ดังต่อไปนี้
จังหวัดกระบี่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพังงา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระบุรีและจังหวัดสุราษฎร์ธานี
2.2) จังหวัดรอง ให้หมายความถึงพื้นที่ดังต่อไปนี้
จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่านจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพะเยา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดยะลา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดระนอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรีจังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดอุบลราชธานี
2.3) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3) ผลกระทบ : จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,000 ล้านบาท
4) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ
5) แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย : ออกกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
2.2 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา
1) หลักการ : กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าซื้อสินค้าที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬาดังต่อไปนี้
1.1) อุปกรณ์การศึกษา แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
1.2) เครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษา
1.3) อุปกรณ์กีฬา
1.4) เครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬา
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข :
2.1) ต้องได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
2.2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3) ผลกระทบ : จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,500 ล้านบาท
4) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สนับสนุนให้มีการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา
5) แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย : ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
2.3 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท่องเที่ยวท้องถิ่นไทย
1) หลักการ : กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าซื้อสินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข : หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3) ผลกระทบ : จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ
150 ล้านบาท
4) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สนับสนุนสินค้าโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งก่อให้เกิดการกระจายรายได้ของชุมชน
5) แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย : ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
2.4 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน :
1) หลักการ : กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book) ทุกประเภทที่จะจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นตามที่จ่ายจริงไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข :
2.1 รายจ่ายตามข้อ 1) หากรวมกับรายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการตามข้อ 1 (2) และ (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 341 (พ.ศ. 2561) ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 16 มกราคม 2562 ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
2.2 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3) ผลกระทบ : จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 2,250 ล้านบาท
4) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สนับสนุนให้ประชาชนซื้อหนังสือ และได้รับความรู้จากการอ่านมากขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศ อันสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)
5) แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย : ออกกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
2.5 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
1) หลักการ : กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถนำค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท ไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการคํานวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข :
2.1) ต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัย
2.2) ไม่รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาจ้างปลูกสร้างอาคารแยกจากกัน
2.3) ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย 2.4) ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เว้นแต่ตายหรืออสังหาริมทรัพย์สิ้นสภาพไปทั้งหมด
2.5) หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3) ผลกระทบ: จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,350 ล้านบาท
4) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านหลังแรกและเป็นการกระตุ้นการซื้อขายภาคอสังหาริมทรัพย์
5) แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย : ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ
2.6 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
1) หลักการ :
1.1) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกหรือรับใบกำกับภาษีหรือใบรับ หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายดังต่อไปนี้
1.1.1) รายจ่ายเพื่อการลงทุนในการพัฒนาระบบ เครื่อง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาระบบจัดทำ หรือส่งมอบ หรือรับส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือคู่ค้า
1.1.2) รายจ่ายเพื่อค่าบริการระบบคลาวด์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำ หรือส่งมอบ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีหรือใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Service Provider) ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
ทั้งนี้ ไม่ให้รวมถึงรายจ่ายของผู้ให้บริการจัดทำ หรือส่งมอบ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการ (Service Provider)
1.2) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ต่อเชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์เป็นระบบ POS (Point of Sale) ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อระบบ POS ซึ่งเชื่อมโยงกับการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
1.3) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้และผู้ให้บริการการชำระเงินตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายดังต่อไปนี้
1.3.1) รายจ่ายเพื่อการลงทุนในการพัฒนาระบบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์
1.3.2) รายจ่ายค่าบริการระบบคลาวด์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์
2) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข :
2.1) ต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
2.2) ให้ใช้สิทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใช้การจริง (มีการจัดทำ ส่งมอบและเก็บรักษาใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ มีการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน POS หรือมีการใช้ระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์)
2.3) ทรัพย์สินต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
2.3.1) ต้องไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
2.3.2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
2.3.3) ต้องได้มาและได้ใช้การจริงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจในการขยายระยะเวลาดังกล่าว
2.3.4) ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรฉบับอื่น ๆ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
2.3.5) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร
2.4) ต้องใช้ระบบใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และระบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่อง POS แล้วแต่กรณี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 รอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน โดยนับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใช้ระบบเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก
2.5) เครื่อง POS ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามข้อ 1.2) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
2.5.1) ต้องเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อระบบ POS
2.5.2) ต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรได้
2.5.3) ต้องบันทึกรายละเอียดการขาย และยอดขายได้ 2.5.4) ต้องแยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าและบริการได้
2.5.5) ต้องเชื่อมต่อกับเครื่อง EDC
2.5.6) ต้องรับและส่งข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละรายการที่รับชำระค่าสินค้าและบริการได้
2.6) กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาพบว่าไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคํานวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีทรัพย์สินถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ ไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก
2.4) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3) ผลกระทบ : จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 2,370 ล้านบาท
4) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :
4.1) ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
4.2) กระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน
5) แนวทางการปรับปรุงกฎหมาย : ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่) .. พ.ศ. ....จำนวน 1 ฉบับ
ผลกระทบ
มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 จะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
1. มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 13,210 ล้านบาท และการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายจากประชาชนและเอกชน ซึ่งจะผลักดันให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2562 เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังประมาณไว้คือ เท่ากับร้อยละ 3.9
2. ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยผู้มีรายได้น้อยจะได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภค ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือปัจจัยการผลิตอื่น ๆ รวมถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายพ่อแม่ในช่วงเปิดเทอม เช่น ค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น
ดูมติคณะรัฐมนตรี 30/04/2562 ทั้งหมด
https://media.thaigov.go.th/uploads/document/74/2019/04/docx/Doc_20190430175027000000.docx