กระทรวงสาธารณสุข เผย 5 เดือนของปี 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว กว่า 20,000 คน เกินครึ่งเป็นเด็กนักเรียน ขอความร่วมมือผู้ปกครอง ครู กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและโรงเรียนเพื่อป้องกันไข้เลือดออกช่วงเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ อาจมีน้ำขังในภาชนะที่ถูกทิ้งไว้บริเวณบ้าน โรงเรียน ศาสนสถาน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก โดยในปีนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 13 พ.ค. ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ระบุพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นเด็กนักเรียนถึงร้อยละ 52 จากผู้ป่วยทั้งหมด 20,733 คน เสียชีวิต 25 ราย จึงขอเชิญชวนให้ผู้ปกครอง ครู พี่เลี้ยงเด็ก เข้มงวดเรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อให้ลูกหลานปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกต้อนรับเปิดเทอมใหม่ เพราะเด็กนักเรียนมีโอกาสได้รับเชื้อโรคไข้เลือดออกจากยุงลายที่บ้านและโรงเรียน
“ขอให้ทุกบ้าน ทุกโรงเรียนสำรวจจุดเสี่ยงที่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายที่พบบ่อย เช่น ภาชนะที่ถูกทิ้งรอบๆ บ้าน จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า ที่อาจพบไข่ยุงลายติดอยู่และอยู่ได้นานถึง 1 ปี เมื่อมีน้ำขัง ไข่ยุงจะเติบโตเป็นลูกน้ำยุงลายได้ ภายใน 1-2 วัน ส่วนในบ้านพบได้ตามภาชนะรองน้ำทิ้งด้านหลังตู้เย็น แก้วน้ำหิ้งพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ ขอให้ล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ซึ่งหากทุกคนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จะช่วยลดจำนวนลูกน้ำยุงลายและโอกาสการเกิดโรคไข้เลือดออกลงได้” นายแพทย์สุขุมกล่าว
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ วิธีการป้องกันการเกิดไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ใช้มาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน
ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422