ธพว.สุดปลื้มพันธบัตร รอบแรก วงเงิน 3,000 ล้านบาท ขายหมดอย่างรวดเร็ว วงเงินเสนอซื้อสูงกว่าปริมาณเสนอขาย 4 เท่าตัว กำหนดเปิดขายรอบ 2 อีก 5,000 ล้านบาท ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้
ธพว.สุดปลื้มพันธบัตร รอบแรก วงเงิน 3,000 ล้านบาท ขายหมดอย่างรวดเร็ว วงเงินเสนอซื้อสูงกว่าปริมาณเสนอขาย 4 เท่าตัว กำหนดเปิดขายรอบ 2 อีก 5,000 ล้านบาท ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ มั่นใจนักลงทุนตอบรับดีเช่นเดิม เพราะมีความมั่นคงสูง ก.คลังค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เชื่อระดมทุนปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเอสเอ็มอีไทยได้เพียงพอ ตามเป้าหมาย 60,000 ล้านบาท
ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว). หรือ SME D Bank เผยว่า จากที่ธนาคารได้ออกพันธบัตรธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 ครั้งที่ 1 วงเงิน 3,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี 8 เดือน จัดประมูลเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงมาก ขายหมดอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนวงเงินเสนอซื้อมากกว่าเสนอขายถึง 4 เท่าตัว หรือมากกว่า 12,000 ล้านบาท อีกทั้ง อัตราผลตอบแทนที่ประมูลได้ต่ำสุด 2.010% ซึ่งต่ำกว่าอัตรากำหนดหน้าตั๋วของพันธบัตรอยู่ที่ 2.125% บ่งบอกได้ดีว่า พันธบัตร ธพว. เป็นที่เชื่อมั่นและต้องการของนักลงทุน เนื่องจากมีความมั่นคงสูงมาก โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย อีกทั้ง ธนาคารมีสถานะความแข็งแกร่งจากการจัดอันดับเครดิตองค์กร โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง จำกัด อยู่ในระดับ AAA ถือเป็นระดับสูงสุดเท่ากับ Credit Rating ของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ ธนาคารเตรียมจะออกพันธบัตรฯ ครั้งที่ 2 วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี 8 เดือน เชื่อว่าจะได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเช่นเดิม กำหนดจัดประมูล ในวันที่ 17 มิถุนายน 2562 มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้จัดจำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยมีวิธีการ ดังนี้
(1) จำหน่ายพันธบัตรโดยวิธีการเสนอประมูลอัตราผลตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการ e-Bidding ตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้บริการธุรกรรมประมูลตราสารหนี้ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) พ.ศ. 2546 ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม สำนักงานประกันสังคม บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต และสถาบันอื่นๆ ที่มีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) จำหน่ายพันธบัตรโดยวิธีการเสนอซื้อให้แก่ มูลนิธิ สหกรณ์ นิติบุคคลเพื่อการสาธารณกุศล การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา สาธารณประโยชน์อื่นๆ โดยมิได้มุ่งหวังประโยชน์มาแบ่งปันกัน และกองทุนที่เป็นนิติบุคคลที่ใช้ผลประโยชน์จากต้นเงิน
ดร.พสุ กล่าวเสริมว่า การขายพันธบัตร ธพว. ทั้ง 2 ครั้ง วงเงินรวม 8,000 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่อง ทำให้ธนาคารมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมในระยะยาว สามารถนำไปปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ได้อย่างเพียงพอ โดยนับถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถเบิกจ่ายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2561) กว่าเท่าตัว และคาดว่า ภายในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ จะเบิกจ่ายได้ถึง 20,000 ล้านบาท ทำให้สิ้นปีนี้ (2562) จะอำนวยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ตามเป้าหมาย 60,000 ล้านบาท จำนวนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้กว่า 60,000 ราย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบบเกือบ 300,000 ล้านบาท