ถาม โรคไข้เลือดออก คืออะไร
ตอบ ในทางการแพทย์ โรคไข้เลือดออก คือโรคที่ต้องพิสูจน์ได้ว่าอาการป่วยขณะนั้นมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออก โดยการตรวจเลือด ซึ่งกระทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่มีห้องปฏิบัติการตรวจเลือดผู้ป่วย หาภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ต่อเชื้อ ขณะที่กำลังป่วย และตรวจอีกครั้งห่างจากครั้งแรก 1 - 2 สัปดาห์ แล้วจึงจะรายงานผล ดังนั้น ขณะกำลังป่วยยังพิสูจน์ไม่ได้ครับ การตรวจดูเม็ดเลือดขาวทั่วไป เป็นเพียงหาแนวโน้มการป่วยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก แต่ไม่ใช่การพิสูจน์ครับ ตรวจเลือดครั้งเดียวแล้วรายงานผลเลย อันนี้ห้องปฏิบัติการเล็กๆ หรือตามคลินิกทำได้ครับ มาช่วยตัดสินใจในการรักษาขณะนั้น
ถาม ลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออก เป็นอย่างไร
ตอบ เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส ไข้เลือดออก จะปรากฏอาการได้ 4 ลักษณะ คือ
1. ไม่มีอาการอะไรเลย เป็นเพียงแหล่งแพร่เชื้อไวรัส มีคำถาม เราทราบได้อย่างไรถ้าไม่มีอาการไม่มาหาแพทย์ อันนี้เป็นข้อสรุปจากการสุ่มสำรวจ ตรวจเลือดครั้งแรกไม่พบหลักฐาน การติดเชื้อไวรัส แล้วรอสักระยะตรวจอีกที โดยผู้นั้นไม่มีอาการป่วยอะไรเลย กลับพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสไปแล้ว คนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จะตกอยู่ในกลุ่มนี้
2. ในเด็กเล็ก ๆ มีอาการไข้และผื่นขึ้น อาการไม่รุนแรง อาการจะเหมือนโรคไข้ออกผื่น จากสาเหตุไวรัสตัวอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ไข้เลือดออกก็ได้ครับ
3. ในเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่ มีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือมีจุดเลือดออก การตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำเกร็ดเลือดต่ำ และอาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ
4. กลุ่มนี้อาการตอนแรกคล้ายกลุ่ม 3 แต่อาจดูรุนแรงกว่า มีปวดท้อง แต่มีอาการของการรั่วของน้ำ ในหลอดเลือด หรือพลาสมาไปตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มปอด ตับทำให้บวมโต กดเจ็บ ปวดท้อง เมื่อสารน้ำในหลอดเลือดไม่พอ ก็จะทำให้ความดันโลหิตตกหรือช็อค หัวใจเต้นเร็วขึ้น ชีพจรเบา มือเท้าเย็น เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง จนมีอาการสับสน ซึม หรือหมดสติ การตรวจเลือดตอนนี้จะพบมีแต่เม็ดเลือด เพราะพลาสมารั่วไป จึงเห็นเลือดข้น ยกเว้นในกรณีที่มีเลือดออกจะเสียเม็ดเลือดแดงไปด้วย อาจไม่เห็นเลือดข้น แต่ก็ควรเห็นว่ามีเลือดออกอยู่ที่ใด ที่อธิบายได้
ถาม เมื่อเริ่มมีไข้จะสังเกตอย่างไรว่าโรคจะดำเนินไป แบบกลุ่ม 3 หรือ กลุ่ม 4
ตอบ ด้วยความรู้ ความสามารถปัจจุบัน อาการของกลุ่ม 3 และ กลุ่ม 4 ระยะ 2 - 3 วันแรก คล้ายกัน การตรวจหรือติดตามลักษณะอาการที่บ่งชี้มีการรั่วของพลาสมา เช่น ตับโต กดเจ็บ ปวดท้อง อาเจียน ในวันที่ 3 หรือ 4 ให้น่าสงสัย ควรมาพบแพทย์ตรวจความดัน ชีพจร คลำตับ หรือ อาจ X-RAYS ดูน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ตรวจเลือดดูความข้นและเม็ดเลือดขาว ก็พอจะทำนายได้และ ให้การติดตามรักษาในกลุ่ม 4 ให้ทันท่วงที มิฉะนั้นถ้าช็อค หรือสมองขาดเลือดนาน มาหาแพทย์ช้ามีอันตรายถึงพิการ หรือ เสียชีวิตได้
ถาม ทำอย่างไรถึงจะไม่ได้รับเชื้อไวรัส ไข้เลือดออกเข้าสู่ร่างกาย
ตอบ ตามหลักการคือ
1. ไม่ให้ยุงลายกัด เพราะเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจากผู้ป่วยคนหนึ่ง เมื่อถูกยุงลายกัด เชื้อก็จะผ่านเข้าไปเจริญในตัวยุง และอยู่ที่ต่อมน้ำลายยุง เมื่อยุงกัดอีกคน เชื้อที่อยู่ในน้ำลายยุงก็จะผ่านเข้าไป ทำอันตรายคนใหม่ได้
2. ควบคุมปริมาณยุงลายไม่ให้เพิ่มจำนวนมากมาย โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่นบริเวณที่มีน้ำสะอาดนิ่ง ๆ ขัง เช่น ในถาดรองน้ำขาตู้กับข้าว หรือกระถางต้นไม้ น้ำฝนที่ขังตามแอ่ง หรือภาชนะที่ไม่มีฝาปิดทำให้ยุงลายไปวางไข่ได้
ถาม ถ้าเคยเป็นแล้ว (พิสูจน์จริง ๆ ) จะเป็นซ้ำได้ไหม
ตอบ ภูมิคุ้มกันแอนติบอดี้ที่เกิดขึ้นภายหลังการรับเชื้อ นั้นจะอยู่สูงระยะหนึ่งเท่านั้น จึงสามารถรับเชื้อได้อีก และมีอาการได้อีกครับแต่ไม่น่าจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้งในปีเดียวกัน
รศ.นพ.นิรันดร์ วรรณประมา
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล