รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดคลินิกกัญชาเพื่อรักษาทางการแพทย์ รพ.มหาราชนครราชสีมา แห่งแรกของประเทศ ในระดับโรงพยาบาลศูนย์
วันนี้ (17 สิงหาคม 2562) ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง “เปิดคลินิกกัญชาเพื่อรักษาทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา” ว่า เรื่องกัญชาทางการแพทย์เป็นนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ โดยในวันนี้ได้มาดูคลินิกกัญชาของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาที่เป็นคลินิกแห่งแรกของของประเทศในระดับโรงพยาบาลศูนย์
นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องกัญชาทางการแพทย์ เป็นการนำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมาใช้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพยายามให้การรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาถูกต้องกฎหมายทั้งการแพทย์สมัยใหม่และการแพทย์ทางเลือก ภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่ผ่านการอบรม ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้มอบสารสกัดกัญชา ทั้ง 3 สูตรให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีการทยอยผลิตออกมาเรื่อย ๆ เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลทุกแห่งต่อไป สำหรับแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านที่นำสูตรจากกัญชาทั้งการสกัดจากน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว จะนำไปพิสูจน์ หากผ่านการพิสูจน์ว่าไม่มีพิษทำลายสุขภาพก็สามารถนำใช้รักษาผู้ป่วยได้
“ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันผลักดันทำให้กัญชาที่ทุกคนคิดว่าเป็นสารเสพติด ทำลายสังคม มาเป็น ประโยชน์ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ ขอยืนยันว่าไม่ได้เน้นการสันทนาการ คำว่าเสรีทางการแพทย์คือทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการรักษาโรคด้วยกัญชา ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจทีมงานกระทรวงสาธารณสุขที่ช่วยกันทำให้สิ่งที่คิดว่าเป็นไป ไม่ได้สามารถเป็นไปได้ และหากการรักษาได้ผลดีจะสามารถขยายเป็นธุรกิจอื่นๆ ขอย้ำว่าต้องใช้ภายใต้การควบคุม ของแพทย์และใช้ในประเทศไทยเท่านั้น” นายอนุทินกล่าว
สำหรับคลินิกกัญชาฯ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาในระยะแรก จะเปิดให้บริการผู้ป่วยใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคที่ใช้น้ำมันกัญชา ได้แก่ กล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, ลมชักที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน, ปวดประสาท, อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2.ผู้ป่วยกลุ่มโรคยาตำรับแผนไทยได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอาการนอนไม่หลับ ช่วยเจริญอาหาร, ผู้ป่วยที่มีอาการจุกเสียดท้องแข็งเกร็งเป็นเถาดาน เสียงแหบ, ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง, ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกพรรดึก ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ขับลม, ผู้ป่วยที่มีอาการลมจุก เสียดปวดท้องมวนท้อง
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีแพทย์แผนปัจจุบัน 1 คน และแพทย์แผนไทย 3 คน ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจากกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว และในสัปดาห์หน้าจะส่งไปอบรมเพิ่มอีก 10 คน ในส่วนของผู้ป่วยในกลุ่มแผนปัจจุบันที่รักษาด้วยน้ำมันกัญชาเข้ามารับคำปรึกษา ประมาณ 100 คน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรคที่รักษาด้วยยาแพทย์แผนไทยมีประมาณ 500 คน
************************************
17 สิงหาคม 2562