นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยให้สามารถดำรงชีพได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 :ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน 2. มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย 3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ และ 4. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้านประกอบด้วย 4 โครงการ ดังนี้
1.1 มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน
1.2 มาตรการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน
1.3 มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของ พม. ที่ดูแลบุตรและเด็กเล็กที่มีอายุ 0 ถึง6 ปี ให้ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน
ทั้งนี้ การบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้ง 3 มาตรการข้างต้น เป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2562 โดยเติมเงินเข้าช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) แอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ได้
1.4 มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงิน
เพื่อลดภาระในการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) จำนวน 50,732 แห่ง โดยเป็นกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จำนวน 27,249 แห่ง และอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน จำนวน 23,483 แห่งทั้งนี้ การพักชำระหนี้จะพักชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น และยังคงต้องชำระดอกเบี้ยตามปกติ โดยมีรายละเอียดในการดำเนินงานดังนี้
1) ธ.ก.ส. เปิดลงทะเบียนกองทุนหมู่บ้านฯ ที่สมัครใจเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นกองทุนหมู่บ้านฯ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562และจะเริ่มดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 (1 รอบปีบัญชีของธนาคาร)
2) ธนาคารออมสินเปิดลงทะเบียนกองทุนหมู่บ้านฯ ที่สมัครใจเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นกองทุนหมู่บ้านฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และจะเริ่มดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นตั้งแต่วันที่
1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563(1 รอบปีบัญชีของธนาคาร)
2.มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระหนี้สินของผู้ประสบภาวะวิกฤติภัยแล้งและลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรรายย่อย ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้
- 2.1 โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ในพื้นที่จังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) (ประกาศเขตฯ ภัยแล้ง)ให้ได้รับสิทธิ์จ่ายดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.1 ต่อปี สำหรับต้นเงินกู้ที่ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563
- 2.2 โครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.
ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดที่มีการประกาศเขตฯ ภัยแล้ง ให้ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระหนี้เดิมเป็นระยะเวลา 2 ปีนับจากงวดชำระเดิม แต่ไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นอกจากนี้ ธ.ก.ส. มีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ให้มีเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ และเป็นค่าสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือโรงเรือนการเกษตร รวมถึงฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท
- 2.3 โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 (รอบที่ 1) กับกรมส่งเสริมการเกษตร
3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการลงทุนของ SMEs และภาคเอกชนผ่านมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- 3.1 มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้”เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการจะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการผ่านเว็บไซต์ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1) รัฐบาลสนับสนุนวงเงินจำนวน 1,000 บาท
ต่อคนเพื่อเป็นสิทธิในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ โดยไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และ 2) หากผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน) เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งนี้ ในการซื้อสินค้าและบริการดังกล่าวจะต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ
ที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”
- 3.2 โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
โดยกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินการร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อสนับสนุน SMEs ทั่วไปให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ และสนับสนุน SMEs ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว
และบริการเพื่อปรับปรุงซ่อมแซม ขยายกิจการ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ
- 3.3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8)วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอ ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี โดย บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 30 และรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี หรือร้อยละ 3.5 ของวงเงินค้ำประกัน
- 3.4 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่าย
เพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง (หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา 1 เท่าตามปกติ และทยอยหักรายจ่ายส่วนเพิ่มอีก 0.5 เท่า โดยเฉลี่ยเท่ากันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี) สำหรับการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 นอกเหนือจากโครงการ/มาตรการสนับสนุนการลงทุนของ SMEs และการลงทุนของภาคเอกชนผ่านมาตรการด้านสินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการภาษีดังกล่าวข้างต้นแล้ว สถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสินธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังมีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อสนับสนุน SMEs และที่อยู่อาศัยเพื่อสนับสนุน SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ และสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อ SMEs และวงเงิน 52,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย
4. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเร่งรัดติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ โดยมีที่ปรึกษาหรือรองอธิบดีที่อธิบดีกรมบัญชีกลางมอบหมาย และที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม และให้มีการติดตามและประชุมหารือเป็นประจำทุกไตรมาส หรือแล้วแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นสมควร
กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
และเกษตรกรรายย่อย ช่วยรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและสร้างแรงส่ง (Momentum) ให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
ข้อมูลจาก เพจกระทรวงการคลัง 20 ส.ค. 2562