เมื่อมีชีวิตน้อย ๆ อยู่ในครรภ์ ความสุขก็มาเยือนว่าที่คุณแม่และทุกคนในครอบครัว และสิ่งที่มักจะทำให้สตรีตั้งครรภ์ทุกคนมีความกังวลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เรื่องการคลอด โดยเฉพาะวิธีการคลอด ว่าจะ “คลอดเองตามธรรมชาติ” หรือจะ “ผ่าตัดคลอด" ซึ่งการผ่าตัดคลอดนั้นเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ ที่มีขึ้นเพื่อให้สามารถช่วยให้คุณแม่และลูกในท้องมีความปลอดภัยจากการคลอดมากขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์หรือการคลอด
อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการผ่าตัดคลอดได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่นั้นเป็นการผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่เหมาะสม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทั้งด้านคุณแม่และคุณหมอ เช่น ความเข้าใจผิดและความกลัวเกี่ยวกับการคลอดตามธรรมชาติ ความเชื่อถือเรื่องโชคลางและฤกษ์ยามในการเกิดของลูก ความสะดวกสบายในเรื่องการจัดการเวลา เป็นต้น
ถึงแม้การผ่าตัดคลอดอาจจะดูเหมือนเป็นทางเลือกที่อาจจะตอบโจทย์ของคุณแม่บางส่วนได้ แต่การผ่าตัดคลอดนั้น สามารถส่งผลเสียต่างๆ ต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้มากกว่าที่หลายคนคิดอย่างมากมายดังนี้
- ผลเสียในระยะสั้น เช่น การเสียเลือดหรือการติดเชื้อจากการผ่าตัด ลูกอาจมีปัญหาด้านการหายใจ มีการพัฒนาภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีเท่าที่ควร เริ่มกินนมแม่ได้ช้า เป็นต้นดังนั้น ทุกคนควรตระหนักว่าการผ่าตัดคลอดนั้น ควรทำในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น เช่น ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ การเต้นของหัวใจทารกผิดปกติ ภาวะรกเกาะต่ำ หรือ แม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เป็นกรณีไป
การคลอดเองทางช่องคลอดนั้น เป็นเรื่องที่ธรรมชาติได้สรรสร้างมาเป็นอย่างดี ให้มีความเหมาะสม สำหรับทั้งคุณแม่และลูกน้อย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ถึงแม้การคลอดเองนั้น คุณแม่จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและใช้เวลานาน แต่ก็คุ้มค่ากับการที่ได้ลูกน้อยที่แข็งแรงและมีความพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างมีสุขภาพดีต่อไปในอนาคต
คุณแม่ที่คลอดทางช่องคลอด จะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อย พร้อมที่จะดูแลลูกได้โดยเร็วหลังคลอด ส่วนลูกน้อยนั้น จะผ่านกระบวนการต่างๆ ตามธรรมชาติระหว่างการคลอด ทั้งด้านกายภาพ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และการได้รับแบคทีเรียที่มีประโยชน์เพื่อกระตุ้นการพัฒนาการของภูมิคุ้มกัน เป็นต้น รวมทั้งสามารถเริ่มดูดนมแม่ได้อย่างรวดเร็วหลังคลอด
การที่คุณแม่ได้โอบกอดลูกน้อยและให้ลูกได้ดูดนมแม่เกือบจะทันทีหลังคลอด เป็นความสุขและประสบการณ์ที่ไม่สามารถมีอะไรทดแทนได้และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสร้างความผูกพันที่ดีระหว่างกันไปตลอดชีวิตทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความเชื่อและความเข้าใจผิดต่าง ๆ ควรต้องได้รับการแก้ไข ควรมีการให้ความรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสม โดยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ กับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นในประเทศไทย โดยได้เริ่มมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในหลากหลายประเด็น เพื่อให้เกิดความสำเร็จต่อไปในอนาคต
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1394