คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้
1. แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2562 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการ “ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยให้ธนาคารออมสินเป็นหน่วยรับงบประมาณ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยดำเนินการ” เป็น “ในพื้นที่ 32 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยรับงบประมาณและจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน”
2. เห็นชอบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
สาระสำคัญของเรื่อง
เหตุผลความจำเป็นในการช่วยเหลือฯ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) และพายุดีเปรสชัน “คาจิกิ” (KAJIKI) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่งมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้น ภาคเหนือและภาคอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ลาดเชิงเขา และใกล้ทางน้ำไหลทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง
มีผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรที่รอการเก็บเกี่ยวรุนแรงอย่างมาก ส่งผลให้พืชผลหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ประจำ ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ กระบี่ ปราจีนบุรี แพร่ นครพนม เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุดรธานี สระแก้ว ลำปาง เลย สุโขทัย ศรีสะเกษ และสกลนคร ขณะนี้ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติที่เกิดขึ้นดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ที่มีการประกาศ เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ครัวเรือนละ 5,000 บาท ในกรอบครัวเรือน จำนวน 418,480 ครัวเรือน ภายในกรอบวงเงิน 2,092,400,000 บาท
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือ
1. หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือให้ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยบ้านที่อยู่อาศัยประจำ ประสบภัยกรณีใดกรณีหนึ่ง ใน 3 กรณี ดังนี้
1.1 น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
1.2 บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย
1.3 บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
2. เงื่อนไข
2.1 ทั้ง 3 กรณี ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่อำเภอออกให้ ทั้งนี้ ต้องมีการประชาคมในหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย
2.2 กรณีที่มีประสบภัยซ้ำซ้อนทั้ง 3 กรณี ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงกรณีเดียว
2.3 กรณีที่ประสบภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” (PODUL) พายุดีเปรสชัน “คาจิกิ” (KAJIKI) หรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงเหตุการณ์เดียว